How to เริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก สู่เส้นทางการเป็นนักเขียนมืออาชีพ!

เขียนนิยาย - How to story cover - ภาพที่ 1

หากจะพูดง่ายๆ “นิยาย” ก็เหมือนเป็นโลกอีกใบสำหรับใครหลายๆ คน อาจจะบอกได้ว่าเป็นโลกที่นำเราเข้าไปสู่จินตนาการที่เหลือเชื่อ หรือเป็นภาพความฝันที่เกินจริง และแม้จะเป็นแค่การขีดเขียนเรื่องราว หรือเป็นการสร้างตัวละครที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบการอ่านหรือการเขียนนิยายแล้ว โลกในนิยาย ก็เหมือนบ้านอีกหนึ่งหลังที่เต็มไปด้วยความสุขและความสนุกครบรสในแบบที่เรากำลังตามหา

เขียนนิยาย - young smiling woman striped shirt taking notes while sitting table light apartment - ภาพที่ 3

และสำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก อยากเขียนนิยายเป็นงานอดิเรก เขียนนิยายลงขายออนไลน์เป็นอาชีพเสริม เขียนนิยายเพื่อคลายเครียด หรือใครที่อยากประลองฝีมือ เขียนนิยายเรื่องแรกเป็นของตัวเอง วันนี้เราก็มาพร้อมกับ How to เริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก สู่เส้นทางการเป็นนักเขียนมืออาชีพ มาฝาก จะเขียนนิยายเรื่องแรกทั้งที ไปดูกันว่าต้องทำยังไงบ้าง!?

How to เริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก

 

เขียนนิยาย - successful computer gadget digital close - ภาพที่ 5

เลือกแนวที่ชอบ

จะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก จำเป็นต้องรู้ตัวเองก่อนว่าอยากเขียนแนวไหน เช่น แฟนตาซี สยองขวัญ โรแมนติก คอมเมดี้ สืบสวน ผจญภัย ฯลฯ อาจจะเลือกจากแนวนิยายที่ชอบอ่าน หรือจะเป็นแนวใหม่ๆ ที่อยากลองเขียน การกำหนดแนวนิยายที่อยากเขียนให้ชัดเจนจะช่วยให้นิยายดูน่าสนใจมากขึ้น

หาไอเดียจากสิ่งรอบตัว

การจะเขียนนิยายสักเรื่อง เราสามารถมองหาไอเดียจากสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียการสร้างตัวละคร ชื่อ ลักษณะนิสัย จุดเด่นของตัวละคร ไอเดียการเล่าเรื่อง ไอเดียสถานที่ต่างๆ และอีกมากมาย ซึ่งเราสามารถหาไอเดียเหล่านี้ได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ตรงของเราเอง

วางโครงเรื่องให้ชัดเจน

พล็อตหรือโครงเรื่อง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเขียนนิยายเลยทีเดียว การวางโครงเรื่องหรือเส้นในการดำเนินเรื่องให้ชัดเจน จะช่วยให้นิยายของเราสามารถเขียนต่อไปได้จนจบ ไม่เผลอออกทะเล เขียนวกไปวนมา หรือเกิดอาการตัน เขียนต่อไม่ออก โดยเราจะต้องวางโครงเรื่องให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มจนจบเรื่อง จะช่วยให้เขียนนิยายได้ง่ายขึ้น

เขียนนิยาย - hardworking focused woman trendy glasses concentrating writing essay sitting cozy cafe near laptop working making notes carefully - ภาพที่ 7

หาข้อมูลให้มากที่สุด

หนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นนักเขียนที่ดี ก็คือการมีคลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อการเขียนนิยายที่มากพอ ไม่ว่าเราจะเขียนนิยายแนวไหน จะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว ก็ควรมีคลังข้อมูลเก็บไว้อยู่เสมอ และจะต้องหมั่นหาข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติม ที่สำคัญคือควรหาข้อมูลจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ก็จะทำให้นักอ่านได้รับความรู้ไปด้วย

จัดเวลาในการเขียน

เมื่อตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเริ่มเขียนนิยายแล้ว แนะนำให้วางแผนหรือจัดแบ่งเวลาในการเขียนนิยายด้วย เช่น ใน 1 วันจะเขียนนิยายให้ได้ 1 ตอน หรือกำหนดจำนวนหน้ากระดาษที่อยากเขียน ใน 1 สัปดาห์จะต้องเขียนเสร็จทั้งหมด 5 ตอน เป็นต้น แน่นอนว่าการจัดแบ่งเวลาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือเราต้องทำตามกำหนดเวลาของตัวเองให้ได้ เขียนให้ต่อเนื่อง นอกจากจะฝึกวินัยในตัวเองแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ใช้เวลาเขียนนานเกินไปด้วย

หาสไตล์การเขียนของตัวเองให้เจอ

สไตล์การเขียน หรือภาษาที่ใช้เขียน เป็นเหมือนลายเซ็นของนักเขียนเลยก็ว่าได้ สังเกตว่านักเขียนหลายๆ คนมักจะมีสไตล์การเขียนหรือการใช้ภาษาในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การบรรยาย การใช้คำ สำนวน ฯลฯ ซึ่งเป็นอะไรที่เลียนแบบกันได้ยาก สำหรับคนที่กำลังเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรก ก็สามารถค่อยๆ ใช้เวลาหาสไตล์การเขียนของตัวเองได้เช่นกัน

เขียนนิยาย - portrait woman writing letter - ภาพที่ 9

พยายามเขียนให้จบเรื่อง

นักเขียนนิยายมือใหม่หลายคนมักจะตัดใจยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ถึงครึ่งเรื่อง หรือบางคนเพิ่งเริ่มไปได้ไม่เท่าไหร่ก็เกิดอาการเขียนไม่ออก ไปต่อไม่ได้ บางคนก็เขียนทิ้งไว้ นานๆ ทีค่อยกลับมาเขียนต่อ พอเบื่อก็เลิกเขียนไปซะดื้อๆ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นิยายเรื่องแรก ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป เราสามารถฝึกฝีมือได้เรื่อยๆ เริ่มจากพล็อตเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ข้อมูลเยอะ ก็จะช่วยลดความยากในการเขียนลงได้

อ่านซ้ำหลายๆ รอบ

นิยายของเราเอง เขียนเองอ่านเองไม่ต้องอายใคร เมื่อเขียนนิยายจบแล้วก็ให้กลับมาอ่านซ้ำหลายๆ รอบ นอกจากจะเป็นการตรวจคำผิดแล้ว ยังช่วยให้เราหาข้อบกพร่องของนิยายได้ง่ายขึ้น มองเห็นจุดเด่นและจุดที่ต้องปรับปรุงของตัวเองได้ชัดขึ้น หลังจากอ่านซ้ำหลายๆ รอบแล้วก็กลับมารีไรท์ แก้ไขจุดบกพร่อง จะช่วยให้นิยายสมบูรณ์มากขึ้น

ขอความคิดเห็นจากคนที่ไวใจ

เมื่อเขียนนิยายจนจบเรื่องแล้ว อ่านเองแล้ว รีไรท์แล้ว แนะนำให้ลองหาเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจได้สักคน ขอให้เขาช่วยอ่านนิยายของเรา แม้เราจะมั่นใจว่านิยายของเราสมบูรณ์ที่สุดแล้ว แต่คนอื่นๆ อาจจะคิดไม่เหมือนเราก็ได้ และไม่แน่ว่าอาจจะทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ มาเพิ่มด้วย การยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และนำมาปรับปรุงให้นิยายของตัวเองดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของนักเขียนที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

dek-d.com, freepik.com

ติดตามเพจ