รู้จัก “โรคกลัวความรัก” มีสาเหตุมาจากอะไร? ทำไมถึงกลัวการมีความรัก?

โรคกลัวความรัก - philophobia cover - ภาพที่ 1

แม้ความรักจะเป็นสิ่งสวยงาม หลายคนอาจได้เจอกับความรักดี ๆ แต่ก็ยังมีคนที่มองไม่เห็นความสวยงามนั้น และมีความคิดว่า ขึ้นชื่อว่าความรักมักลงเอยด้วยความเจ็บปวด จนไม่สามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครได้อีก หรือกลัวแม้แต่จะเริ่มต้นพูดคุยกับคนอื่น หากมีแนวโน้มว่าการพูดคุยในครั้งนี้จะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ไปในเชิงลึกซึ้ง

ความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับความรักเหล่านี้ก็คือ “โรคกลัวความรัก” ที่หลายคนเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคกลัวความรักให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และจะสามารถรักษาโรคกลัวความรักได้ยังไงบ้าง?

โรคกลัวความรัก - medium shot depressed woman bed - ภาพที่ 3

โรคกลัวความรัก คืออะไร?

โรคกลัวความรัก (Philophobia) เป็นภาวะทางจิตชนิดหนึ่งในโรคกลัวแบบเฉพาะ เช่นเดียวกับโรคกลัวความสูง โรคกลัวรู โรคกลัวที่แคบ ฯลฯ หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า Phobia ซึ่งในทางการแพทย์จะไม่ถือว่าเป็นโรค โดยคำว่า Philophobia มีที่มาจากคำในภาษากรีกสองคำคือ “Philos” ที่แปลว่า ความรัก และคำว่า “Phobos” ที่แปลว่า ความกลัว

แม้ภาวะทางจิตที่เรียกว่า “โรคกลัวความรัก” จะไม่จัดเป็นโรคในทางการแพทย์ แต่ผู้ที่มีอาการของโรคกลัวความรักก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการที่ส่งผลกระทบกับจิตใจและชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลัวความรักจะรู้สึกกลัวและวิตกกังวลทุกครั้งที่ต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์ หรือเริ่มต้นที่จะมีความรัก ทำให้กลายเป็นคนไม่กล้าเริ่มต้น ไม่กล้าสร้างความสัมพันธ์ มักมองความรักในแง่ลบ กลัวการตกหลุมรัก กลัวการถูกรัก กลัวการพัฒนาความสัมพันธ์ จนอาจคิดไปเองว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้ และจบลงด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยวโดยที่ไม่อยากมีความรัก

อาการของโรคกลัวความรักนั้นอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต และยังส่งผลกระทบอื่น ๆ โดยมีอาการทางกาย และหากไม่ได้รับการรักษาโรคกลัวความรักอย่างถูกวิธี ก็อาจรุนแรงจนส่งผลกระทบไปถึงจิตใจของผู้ป่วย รวมทั้งอาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนที่มักจะแยกตัวออกจากสังคมได้

โรคกลัวความรัก - woman experiencing anxiety home side view - ภาพที่ 5

อาการของโรคกลัวความรัก

อาการทางกาย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลัวความรักมักจะมีอาการทางกายที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น อาการสั่นกลัว ร้องไห้ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า กระสับกระส่าย หายใจหอบถี่ เหงื่อออกมากผิดปกติ มีอาการชาปลายมือและปลายเท้า หรืออาจเป็นลม

อาการทางจิตใจ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคกลัวความรักที่กระทบไปถึงสุขภาพจิตใจ จะมีอาการที่ส่งผลกับการใช้ชีวิต เช่น ไม่ไว้ใจใคร รู้สึกกังวลทุกครั้งที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ มักตีตัวออกห่างจากสังคมหรือความสัมพันธ์ พยายามห้ามตัวเองไม่ให้มีความรัก หรือเมื่อเริ่มรู้สึกว่ากำลังมีความรักก็จะพยายามหักห้ามใจไม่ให้ถลำลึก พยายามจบความสัมพันธ์ เก็บตัว หลีกเลี่ยงสถานที่ที่คู่รักมักชอบไป

โรคกลัวความรัก - medium shot young woman sitting floor - ภาพที่ 7

สาเหตุของโรคกลัวความรัก

โรคกลัวความรักนั้นมีสาเหตุที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับโรคกลัว (Phobia) ชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีการศึกษาพบว่าโรคกลัวบางชนิดอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม หรืออาจเกิดได้จากการที่สมองทำงานผิดปกติ รวมไปถึงการได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจในอดีตจนฝังใจ หรืออาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

การไม่เห็นคุณค่าของตัวเองหรือกลัวการถูกปฏิเสธ
ผู้ป่วยมักขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีค่าหรือเป็นคนที่ไม่ดีพอ ไม่สมควรได้รับความรัก ประเมินคุณค่าของตัวเองต่ำ ทำให้มักจะกลัวการถูกปฏิเสธ และเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองจากผู้อื่นอยู่เสมอ

วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา
ในบางกรณีโรคกลัวความรักก็มีสาเหตุมาจากข้อห้ามทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนา โดยเป็นข้อห้ามในเรื่องของความรักที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถละเว้นหรือหลีกเลี่ยงได้ เช่น การถูกบังคับฝืนใจให้แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก การรักบุคคลเพศเดียวกัน หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการแสดงความรักระหว่างชายหญิง เป็นต้น

เหตุการณ์ฝังใจในอดีต
การที่มีเหตุการณ์ในแง่ลบที่เป็นปมในจิตใจ หรือเป็นเรื่องฝังใจในอดีต ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคกลัวความรัก เช่น เคยผิดหวังเรื่องความรัก โดนคนรักหักหลังหรือนอกใจ โดนหักอก ความสัมพันธ์ล้มเหลว หรือผ่านประสบการณ์ที่สะเทือนจิตใจขั้นรุนแรง ในบางรายอาจเคยประสบกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว หรือครอบครัวมีปัญหาหย่าร้าง การใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งเคยเห็นคนรอบข้างผิดหวังหรือล้มเหลวในความรักความสัมพันธ์ รวมไปถึงเคยเห็นการล้มเหลวในชีวิตแต่งงาน

โรคกลัวความรัก - sad young woman home - ภาพที่ 9

การรักษาโรคกลัวความรัก

การรักษาโรคกลัวความรักมีหลายวิธี โดยแพทย์จะให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรม ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือรู้สึกสนใจ จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้น

การบำบัดให้หายจากความกลัว
ทำการรักษาโดยจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา โดยจะพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคกลัวความรักได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับความกลัว ชี้ให้เห็นถึงความคิดและความเชื่อในเชิงลบที่เป็นสาเหตุของความกลัว รวมถึงการพยายามช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นแนวทางแก้ไข พร้อมกับให้คำแนะนำในเรื่องของความสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป

การรักษาโดยใช้ยา
ในบางกรณีที่ผู้ป่วยโรคกลัวความรักมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านซึมเศร้า หรือยาคลายความวิตกกังวลควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการพูดคุย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

pobpad.com, doctorraksa.com, freepik.com

ติดตามเพจ