แนะนำ 8 เทคนิคเด็ดๆ สำหรับคนที่อยากเริ่มเขียนนิยาย

เขียนนิยาย - writing notebook cover - ภาพที่ 1

นักเขียนนิยาย อาชีพในฝันของใครหลายคนที่มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการผูกปมเรื่องราว เรียบเรียงความรู้สึกและสะท้อนผ่านออกไปทางตัวอักษร เกิดเป็นนิยายหนึ่งเล่มที่อัดแน่นไปด้วยตัวละคร ผสมผสานไปกับอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย เป็นอาชีพที่ไม่ได้ใช้แค่จินตนาการหรือความชอบส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วยด้วย

เขียนนิยาย - cropped photo mans hand holding green pen while taking notes - ภาพที่ 3

สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่ม “เขียนนิยาย” เป็นของตัวเองสักเรื่องแต่ยังไม่มีประสบการณ์ อยากจะบอกว่าการเริ่มเขียนนิยายไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ถึงแม้จะยังไม่มีประสบการณ์ในการเขียนนิยาย แต่เราสามารถหาประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนนิยายจากการอ่านแทนได้ ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเขียนนิยายได้เก่งมากเท่านั้น

และนอกจากการอ่านจะช่วยให้เริ่มเขียนนิยายได้ง่ายขึ้นแล้ว วันนี้เราก็ยังได้รวบรวม 8 เทคนิคเด็ดๆ สำหรับคนที่อยากเริ่มเขียนนิยาย มาฝาก โดยเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รู้จักวิธีการเริ่มเขียนนิยายแบบเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เริ่มคิดพล็อตเรื่องไปจนถึงจบออกมาเป็นเล่ม เป็นวิธีที่เหมาะมากๆ สำหรับนักเขียนนิยายมือใหม่ ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปดูกันได้เลยว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง!?

8 เทคนิคเด็ดๆ สำหรับคนที่อยากเริ่มเขียนนิยาย

อยากเขียนนิยายแนวไหน?

ก่อนจะเริ่มเขียนนิยายเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าอยากจะเขียนแนวไหน? เช่น แฟนตาซี ย้อนยุค ระทึกขวัญ สืบสวนสอบสวน ปริศนาลึกลับ รักโรแมนติก ตลกคลายเครียด ฯลฯ เมื่อกำหนดแนวหรือประเภทของนิยายได้แล้วค่อยไปต่อ หากเป็นนิยายเรื่องแรก แนะนำให้เลือกแนวที่เขียนง่าย หรือแนวที่เราคิดว่าถนัดจะดีที่สุด

หาสไตล์การเขียนของตัวเองให้เจอ

การเขียนจัดเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ไม่ใช่ใครจะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ หากเป็นคนที่ได้อ่านหนังสือบ่อยๆ จะสังเกตได้ว่า ลักษณะหรือสไตล์การเขียนของนักเขียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น การบรรยายเหตุการณ์หรือสถานที่ การเขียนความรู้สึก การเลือกใช้คำ ฯลฯ ต่อให้เป็นนิยายหรือหนังสือประเภทเดียวกัน แต่ถ้าเป็นคนละคนเขียน เวลาเราอ่านก็จะให้ความรู้สึกหรือกลิ่นอายที่ไม่เหมือนกัน และการที่เราหาสไตล์การเขียนของตัวเองเจอก็จะช่วยให้นิยายของเรามีเอกลักษณ์ ทำให้นักอ่านจดจำนามปากกาเราได้มากขึ้น

เขียนนิยาย - hardworking focused woman trendy glasses concentrating writing essay sitting cozy cafe near laptop working making notes carefully - ภาพที่ 5

หาข้อมูลให้แน่นเข้าไว้

จะเขียนนิยายหรือแม้กระทั่งหนังสือสักเล่ม ไม่ว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรก็จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะเขียนให้มากที่สุด ถึงแม้เราจะเขียนนิยายที่มาจากจินตนาการของเราเอง แต่ท้ายที่สุดเมื่อเขียนไปสักพักเราก็จะต้องการข้อมูลมาประกอบการเขียน ทำให้งานเขียนของเราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และยังสามารถให้ความรู้กับผู้อ่านได้ด้วย ฉะนั้นข้อมูลที่เรามีก็ควรจะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือมีแหล่งอ้างอิงอย่างเป็นทางการ

วางโครงเรื่องให้จบก่อนเริ่มเขียน

สำหรับนักเขียนนิยายมือใหม่แนะนำให้เริ่มจากการวางโครงเรื่องหรือพล็อตนิยายคร่าวๆ ตั้งแต่เริ่มเรื่องไปจนถึงตอนจบของเรื่องก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มลงมือเขียน การวางโครงเรื่องเอาไว้ก่อนจะช่วยให้งานเขียนของเราไม่หลุดลอยออกทะเล โดยให้เราวางโครงเรื่องในแต่ละเหตุการณ์ไว้คร่าวๆ เช่น เริ่มจากปัญหาหรือปมของเรื่อง การแก้ปมปัญหา และบทสรุปหลังจากแก้ปัญหา ไม่แนะนำให้เขียนแบบด้นสดเพราะจะทำให้เราเผลอหลงประเด็นหรือหลุดออกนอกพล็อตที่วางไว้ได้ง่าย

เขียนนิยาย - asian business woman signing contract document making deal - ภาพที่ 7

สร้างตัวละครให้ดูมีมิติ

เวลาเราอ่านนิยายของนักเขียนคนอื่นๆ จะสังเกตว่านักเขียนมักจะบรรยายลักษณะของตัวละครจนเราสามารถจินตนาการตามได้แบบสมจริง เช่น ลักษณะภายนอก รูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย ลักษณะการพูด รวมไปถึงท่าทางต่างๆ ชอบอะไรไม่ชอบอะไร เราจะรู้สึกได้ว่าเรารู้จักตัวละครตัวนี้ในหลายๆ มุม เป็นการสร้างตัวละครแบบมีมิติที่จะทำให้นิยายสนุกและน่าติดตามมากขึ้น

ตั้งใจเขียนให้จบเรื่อง

การเป็นนักเขียนนิยายที่ดีจะต้องมีวินัยในการเขียนเพื่อให้สามารถเขียนได้จนจบเรื่อง เพราะหากเหนื่อยหรือท้อแล้วล้มเลิกการเขียนไปก่อนจะจบ จะทำให้ติดนิสัยเขียนๆ เลิกๆ เบื่อเรื่องนี้ก็เขียนเรื่องใหม่ เบื่อแนวเดิมๆ ก็หาแนวแปลกๆ มาเขียนได้ไม่รู้จบ กลายเป็นว่าไม่มีนิยายเรื่องไหนที่เขียนจบเลย จนสุดท้ายก็อาจจะไม่สามารถเขียนนิยายออกมาตามที่ต้องการได้

เขียนนิยาย - tourist sitting phu sub lek viewpoint sunset lopburi thailand - ภาพที่ 9

ไม่ไหวอย่าฝืน

เป็นธรรมดาที่การเป็นนักเขียนจะมีบางครั้งที่เกิดอาการ “สมองตัน” คิดไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีอารมณ์ที่จะเขียน ในสถานการณ์แบบนี้ถ้าเรายิ่งฝืนเขียนต่อไปจะยิ่งทำให้งานเขียนออกมาไม่ดี เขียนวกวน หลงประเด็น จับต้นชนปลายไม่ถูก ไปต่อไม่ได้ วิธีแก้คือควรหยุดพักรวมถึงหยุดคิดเรื่องการเขียนไปสักพัก อาจจะหาเวลาออกไปท่องเที่ยว พบปะผู้คน ไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป ทานอาหารอร่อยๆ นอกจากจะหายเหนื่อย ได้แรงบันดาลใจในการกลับไปเขียนต่อแล้ว เผลอๆ อาจจะได้ข้อมูลใหม่ๆ ไปเขียนนิยายด้วย!

มีอาสาสมัครนักอ่าน

สำหรับนักเขียนมือใหม่ที่เขียนนิยายจนจบเรื่องเป็นที่เรียบร้อย แนะนำให้หาเพื่อน คนในครอบครัว หรือใครก็ตามที่เราไว้ใจ ให้เขาช่วยมาเป็นอาสาสมัครนักอ่านให้เรา ให้เขาช่วยอ่านงานเขียนของเราและช่วยรีวิวถึงจุดที่ต้องแก้ไขหรือปรับปรุง จะให้ดีที่สุดคือควรเป็นคนที่สามารถพูดตรงๆ กับเราได้ และเราเองก็ควรยอมรับฟังทุกคำติชม เพื่อจะได้นำคำติชมเหล่านั้นไปปรับปรุงหรือพัฒนางานเขียนของเราให้ดีขึ้น

ขอบคุณรูปภาพจาก

freepik.com