เมื่อ SME ไทยต้องปรับตัวในยุค Next Normal มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ร่วมกับ สสว. ส่งต่อความรู้และไอเดียแก่ผู้ประกอบการไทย

Lazada

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้ชื่อ ‘ปลดล็อค SME ไทย ปรับตัวอย่างไรในยุค Next Normal’ พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์

อาทิ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), Facebook ประเทศไทย, บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด., บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai), บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) (LINE Thailand), บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (JD Central), เดอะ แมคคินซี่ โกลบอล อินสติติว (The McKinsey Global Institute), บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด (Organon), บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) และอื่น ๆ อีกมากมาย

โดยการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการสานต่อจุดมุ่งหมายของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียที่จะเสริมพลังและส่งต่อความรู้พร้อมทักษะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ในโลกยุค Next Normal

- Kenan OSMEP 2 0 - ภาพที่ 1

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการไทยถือเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งจากมาตรการและนโยบายในการรับมือโรคระบาด รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เช่น การเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล การทำงานที่บ้าน การเพิ่มความใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพจิต

โดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยตลอดระยะเวลา 25 ปีของการก่อตั้งองค์กร โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงองค์กรและบริษัทชั้นนำ จะถือเป็นพลังสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

- Kenan OSMEP 4 1 - ภาพที่ 3

ภายในงาน ตัวแทนจากองค์กรและบริษัทชั้นนำได้ร่วมพูดคุยและถอดบทเรียนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ Digital Transformation (พลิกองค์กรด้วยวิถีดิจิทัล), Sustainability (ความยั่งยืนและโอกาสทางธุรกิจ), Future of Work (เทรนด์งานแห่งโลกอนาคต) และ Next Normal Consumers (โลกปรับ ผู้บริโภคเปลี่ยน) โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะได้เข้าใจแนวทางรับมือผลกระทบของดิจิทัลต่อโลกหลังโควิด-19 เรียนรู้หลักความยั่งยืนเพื่อเปิดโอกาสธุรกิจสู่สากล ทำความรู้จักกับรูปแบบการทำงานในอนาคต และตามทันเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มาร่วมกล่าวเปิดงาน โดยมีความตอนหนึ่งว่า “การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส งานสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่จะไขให้ผู้ประกอบการ SME มองเห็นโอกาสและความท้าทายเพื่อที่จะยืนได้อย่างมั่นคงในโลกหลังวิกฤต”

ในช่วงการเสวนา Digital Transformation: พลิกองค์กรด้วยวิถีดิจิทัล นายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า “โควิด-19 ช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นไปได้รวดเร็วและง่ายมากขึ้น

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และองค์กรกล้าท้าทายการทำงานรูปแบบเดิม อีกทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีก็มีราคาถูกลงทำให้องค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ควรใช้ ‘โอกาส’ ใน ‘วิกฤต’ นี้พาองค์กรสู่วิถีดิจิทัล”

นางสาวภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้องค์กรและธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบดิจิทัล โดยหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านคือ ‘คน’ ที่ต้องมีทัศนคติและพร้อมปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การเตรียมพร้อมคนในองค์กรจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญสู่วิถีดิจิทัลที่ยั่งยืน”

ในขณะที่นางสาวทราย จารุเสน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ ความเข้าใจในแพลตฟอร์มถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ที่ผ่านมาเราช่วยให้ SME ได้เข้าใจแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านการสร้างบุคลากรเพื่อส่งต่อความรู้และทักษะให้ผู้ประกอบการไทย เราเชื่อว่า ‘ความเข้าใจ’ จะทำให้องค์กรพลิกสู่วิถีดิจิทัลได้อย่างมั่นคง”

ทางด้านนายก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (JD Central) กล่าวในช่วงการเสวนา Next Normal Consumers: โลกปรับ ผู้บริโภคเปลี่ยนว่า “อะไรที่เคยเป็น ‘ความใหม่’ เมื่อปีก่อนได้กลายเป็น ‘ความปกติ’ ในปีนี้ เส้นแบ่งระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ไม่ชัดเจนเหมือนที่เคย โดยเมื่อก่อนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ใช้งานแพลตฟอร์มด้วยวัตถุประสงค์ในการซื้อที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันพวกเขาใช้เวลาสำรวจและเลือกสรรสินค้าบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถสื่อสารได้ตรงจุด และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ”

ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเชื่อเสมอว่าทุกคนมีสิทธิในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นแก่ตนเอง เราจึงทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา สร้างธุรกิจรายย่อยให้เข้มแข็ง หนุนสังคมผู้สูงอายุ และสร้างสังคมที่ยั่งยืน

โดยในสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ความรู้และทักษะจึงเป็นขุมพลังสำคัญแก่ผู้ประกอบการไทยในการยืนอย่างมั่งคงในโลกหลังวิกฤต เมื่อโรคเปลี่ยนโลกและเมื่อวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป การคิดใหม่ ทำใหม่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาธุรกิจเติบโต