ส่องโมเดล 3 จังหวัด ต้นแบบ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ดึง Area-Based Education ตอบโจทย์แผนปฏิรูปฯ บิ๊กร็อค 1

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้หน่วยงานต่างๆ จะร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ก็ได้ส่งผลกระทบให้จำนวนของเด็กนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายครัวเรือนต้องประสบภาวะตกงานอย่างเฉียบพลัน รายได้ที่ลดลงทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระด้านการศึกษาได้ โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจสถานการณ์ของเด็กยากจนและยากจนพิเศษในปีการศึกษา 1/2564 พบว่ามีจำนวนรวมกว่า 1.9 ล้านคน จากจำนวนเด็กในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ 9 ล้านคน

- ABE 8 - ภาพที่ 1

นอกจากนี้ กสศ. ยังได้สำรวจนักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาการเรียนช่วงโควิด-19 จากสาเหตุไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ พบว่ามีนักเรียนที่ประสบปัญหาถึงร้อยละ 87.9 หรือ 271,888 คน จังหวัดที่พบปัญหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ตาก นครราชสีมา และยะลา ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะประสบปัญหาในแต่ละด้านแตกต่างกันไป โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เล่าว่า หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนได้นั้น คือ การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education) ซึ่งเป็นวิธีที่อาศัยการประสานความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา องค์กรภาคเอกชน ประชาสังคม รวมทั้งประชาชนในท้องถิ่น เพราะคนในพื้นที่ย่อมที่จะมีความรู้และความเข้าใจถึงปัญหามากกว่าหน่วยงานจากส่วนกลาง และสามารถร่วมกันสร้างกลไกในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

- ABE 7 - ภาพที่ 3

ปัจจุบัน กสศ. ได้ดำเนินการติดตามเด็กนอกระบบอย่างเข้มข้นในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดของประเทศไทย ภายใต้โครงการการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ค้นหาเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนให้เด็กเหล่านั้นได้กลับสู่โรงเรียนอีกครั้งตามที่ควรจะเป็น โดยวันนี้จะขอยกตัวอย่างโมเดลจาก 3 จังหวัดต้นแบบ ดังนี้

- ABE 5 - ภาพที่ 5

  • ยะลาโมเดล – ช่วยเหลือเด็กด้วยความเชี่ยวชาญของทีมสหวิชาชีพ

จังหวัดยะลานับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความยากจนสูง ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษามาจากสาเหตุความยากจนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องทุพโภชนาการเป็นอันดับสองของประเทศ เด็กแคระแกร็นและเด็กปฐมวัยบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบแล้วก็มีฐานะยากจน ประสบความยากลำบากในการเดินทางไปโรงเรียน จังหวัดยะลาได้มีการติดตามและคัดกรองเด็กนอกระบบช่วงอายุ 3-21 ปี ในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรามัน อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา โดยจากการดำเนินงานพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหาวิธีให้ครอบครัวของเด็กมองเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อค้นหาเด็กเจอแล้ว ต้องสำรวจสภาพบ้านและพูดคุยกับครอบครัวก่อน แล้วจึงจะให้ทีมสหวิชาชีพวิเคราะห์ว่าต้องได้รับการช่วยเหลือในด้านไหน เช่น เด็กบางคนต้องการเข้าระบบการศึกษาเต็มรูปแบบ ขณะที่บางคนต้องการทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือบางมีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จำเป็นต้องให้การดูแลรักษาก่อน ด้วยการส่งต่อให้หน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงให้การสนับสนุนในด้านการศึกษาต่อไปเมื่อเด็กแข็งแรงพอแล้ว

- ABE 1 - ภาพที่ 7

  • พิษณุโลกโมเดล – แชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เชื่อมโยงความช่วยเหลือในทุกมิติ

ในปีแรกของการดำเนินงาน จังหวัดพิษณุได้ทดลองในสามเขตพื้นที่ ได้แก่ อำเภอบางระกำ อำเภอวังทอง และอำเภอพรหมพิราม โดยสามารถคัดกรองเด็กได้จำนวนกว่า 9,597 คน และช่วยเหลือได้ 558 คน จากเป้าหมาย 500 คน ขยายเพิ่มเป็น 7 อำเภอ คัดกรองได้อีกราว 8,000 คน และช่วยเหลือได้ที่จำนวน 1,070 คน ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือเด็กนอกระบบของจังหวัดพิษณุโลกประสบความสำเร็จ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทรัพยากรจากทุกหน่วยงาน เนื่องจากกลุ่มเด็กเป้าหมายมีปัญหาที่ซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงต้องมีหน่วยงานที่พร้อมรองรับเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 1.กลุ่มที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 2.กลุ่มที่อยากพัฒนาทักษะอาชีพ 3.กลุ่มพิการ 4.กลุ่มตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร 5.กลุ่มเด็กกระทำผิดในสถานพินิจฯ 6.กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพกายและจิต 7.กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องอาศัยหน่วยงานเฉพาะทางเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ในแต่ละด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือที่ตรงจุด ปัจจุบันจังหวัดพิษณุโลกได้ร่วมโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี และได้ขยายพื้นที่ทำงานให้กว้างออกไปจนครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด โดยเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

- ABE 6 - ภาพที่ 9

  • สมุทรสาครโมเดล – โปรแกรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยจากวิกฤตโควิด-19

สมุทรสาครโมเดลถือเป็นโครงการล่าสุดที่ กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Research and Development) นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร หนึ่งในพื้นที่ที่มีการปิดเรียนเป็นระยะเวลานาน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ อันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป้าหมายของโครงการจะมุ่งเน้นที่การสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา เริ่มจากการประเมินภาวะถอดทางการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น สำรวจความพร้อมและความต้องการของครูและนักเรียน เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับครู ผู้ปกครอง และกลไกอาสาสมัครชุมชนร่วมด้วย เพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งด้านทักษะความรู้ รวมถึงสุขภาพจิตของเด็ก นับเป็นโครงการวิจัยนำร่องที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยและป้องกันเด็กหลุดนอกระบบ ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

- ABE 3 - ภาพที่ 11

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโมเดลจากจังหวัดต้นแบบข้างต้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
(กสศ.) ยังคงดำเนินการแสวงหาความร่วมมือของ จากทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชน ผู้นำทางความคิด เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และร่วมสร้างกลไกที่จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจการปฏิรูประบบการศึกษาไทยของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เรื่อง การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย และป้องกันเด็กเยาวชนออกจากระบบการศึกษา หรือ บิ๊กร็อคที่ 1 ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานทั้งในระดับพื้นที่และต้นสังกัด การติดตามความคืบหน้า รวมถึงการระดมการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างต่อเนื่อง อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

- ABE 2 - ภาพที่ 13

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22