ส่อง 2 ผลงานผู้ที่ได้รับรางวัล “BIDC Awards 2022” แอนิเมชั่นเรื่อง “FEARLESS” จากนักศึกษา ICT ศิลปากร และ “เม็ดเอ็ด” แพลตฟอร์มสำหรับการศึกษาแพทย์

Lazada

- S 2466115 tn - ภาพที่ 1

ผ่านพ้นการประกาศรางวัลไปแล้ว 23 รางวัล กับ “BIDC Awards 2022” การประกาศรางวัลผลงานดีเด่นด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี 2022 ในโครงการ “Bangkok International Digital Content Festival 2022” หรือ “BIDC 2022” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังร่วมกับเหล่าพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ TCEB , depa และ CEA และภาคอุตสาหกรรม 5 สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย TGA , BASA , DCAT , e-LAT และ TACGA โดยครั้งนี้จะพาไปชมผลงานของ 2 ผู้ได้รับรางวัลจากทางสมาคม BASA และ สมาคม e-LAT

โดยรางวัลแรก เป็นรางวัลหนึ่งในสาขา Emerging Technology and Education โดยสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ หรือ BASA โดยเยาวชนที่สามารถคว้ารางวัล Best Student’s Animation Art & Design Project Award ได้แก่ ผลงาน FEARLESS โดย 3 นักศึกษาฝีมือดี กานต์พิชชา อินทุภูติ (ต้า), อดิศา พงษ์ทองหล่อ (ไกด์), อภิสรา สุขตา (เตย) จาก ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสร้างสรรค์เป็นแอนิเมชั่นแนวผจญภัย โดย ไกด์ – อดิศา รับหน้าที่เป็นตัวแทนของทีมเล่าให้ฟังว่า “แรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งนี้เกิดจากความชอบและความถนัดที่พวกเราสามคนเรียนมา

โดยแต่ละคนมีความสนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ เครื่องเล่นสวนสนุก และเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัย จึงนำ 3 สิ่งนี้มาออกแบบงานแอนิเมชั่น ซึ่งตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำเสกลใหญ่ขนาดนี้ แต่ด้วยพวกหนูไปปรึกษาอาจารย์ การเล่าเนื้อเรื่องต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการเล่า จึงออกมามีความยาว 8 นาที โดยสิ่งที่คิดว่ายากสำหรับพวกเรา คือ ขั้นตอนแรก เพราะเราเจอปัญหาในการใช้โปรแกรมที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เราต้องพยายามมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีความท้อระหว่างทางเยอะมาก พอเจอปัญหาทีก็ต้องรีบหาวิธีแก้ การประยุกต์ปรับใช้ เสียทรัพยากรในเครื่องเพิ่ม พยายามช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ทีละสเต็ป”

อดิศา เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “พวกเราแบ่งหน้าที่ตามความถนัด อย่างหนูจะถนัดเรื่องไลท์ติ้ง และพื้นผิว เพื่อนอีกคนจะถนัดในการปั้นโมเดล อีกคนจะถนัดพวกพรอพประกอบฉาก พอเวลาเอางานมารวมกัน เสร็จออกมาก็ค่อนข้างภูมิใจ โดยเรื่องราวของ Fearless จะเกี่ยวกับเด็กผู้ชายและหุ่นยนต์เพื่อนรัก โดยวันหนึ่งเด็กผู้ชายเผลอไปอวดกับเพื่อนว่ามีปราสาทผีสิงกลางป่า เลยจะต้องอวดฝีมือว่าไม่กลัวผีในปราสาท จึงออกเดินทางไปปราสาท ต้องเจอสิ่งลี้ลับน่ากลัวที่เด็กผู้ชายต้องก้าวผ่านไป จริงๆ เรื่องราวเหมือนกับพวกเราเหมือนกัน ตรงที่ต้องก้าวผ่านความกลัวในการทำงานนี้ไปให้ได้

โดยพวกหนูมองว่า สิ่งที่เราได้จากการทำงานนี้ 2 เรื่อง คือ 1) ประสบการณ์การใช้โปรแกรมและการแก้ปัญหา ได้เรียนรู้อะไรจากงานชิ้นนี้มากๆ เปิดวิสัยทัศน์การทำงานจริง และอีกด้านหนึ่งคือ 2) ความช่วยเหลือ ความสามัคคีของเพื่อน ตอนที่เริ่มคือ ท้อเหนื่อย เจออุปสรรคเยอะมาก แต่ก็สามารถประคับประคองมาจนได้ ได้รับความช่วยเหลือจากทุกคน โดยรางวัลนี้ที่ได้รับก็ถือเป็นความภาคภูมิใจ และต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรามาไกลได้ขนาดนี้ ส่วนในอนาคตมองว่าความฝันของพวกเราคือการได้นำความรู้เหล่านั้น ไปใช้ทำงานในโปรดักชั่นใหญ่ๆ ในเมืองไทย”

- S 2466128 tn - ภาพที่ 3 - S 2466125 tn - ภาพที่ 5 - S 2466126 tn - ภาพที่ 7

อีก 1 รางวัลเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอด e-Learning ของแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี Best e-Learning Award for Platform and Technology จากทางสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) ในสาขา E-Learning โดย ทีปกร ศิริวรรณ จาก CSI Education อาจารย์ที่ผันตัวมาพัฒนาระบบเพื่อการศึกษาให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยได้พัฒนา MEDED: MEDICAL EDUCATION MANAGEMENT PLATFORM หรือเม็ดเอ็ด แพลตฟอร์มการศึกษาสำหรับการศึกษาแพทยศาสตร์ ที่เริ่มต้นนำร่องใช้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

โดยมีแนวความคิดหลักเพื่อแก้ปัญหา Pain Point ที่เกิดขึ้นในระบบการเรียนทั้งฝั่งนักศึกษาแพทย์และฝั่งอาจารย์ จึงได้พัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆ เป็นแพลตฟอร์มการจัดการด้านการศึกษา เพื่อลดความซับซ้อน เนื่องจากการเรียนแพทย์ไม่เหมือนการเรียนในสาขาอื่น จะมีความซับซ้อนในแง่การจัดตารางการเรียน และใช้ manpower ที่ต้องจัดการแบบ manual ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นแพลตฟอร์มนี้จะช่วยจัดการสิ่งที่ซับซ้อนให้ทั้งอาจารย์ และนักเรียนแพทย์ ทั้งเรื่องการบันทึกหัตถการ สามารถเก็บชั่วโมงปฏิบัติการ ในแพลตฟอร์มได้เลย”

“เรามองว่าการได้รับรางวัล จะช่วยให้อีเลิร์นนิ่งเผยแพร่ไป ไม่เพียงแค่ในวงการการศึกษา แต่สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกวงการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น สิ่งที่มองว่าอยากทำต่อในด้านการนำมาใช้ คือเรื่อง Personal Education Analytic เช่น เราเรียนมาได้เกรด C ในบางวิชา ไม่ใช่ว่าเราไม่เก่ง แต่เราอาจจะไม่ถนัดในวิชานั้นๆ แต่สิ่งนี้จะช่วยวิเคราะห์การเรียนรายบุคคล ช่วย identify สิ่งที่เค้าเก่งได้จริงๆ” ทีปกร ฉายภาพให้ฟังในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูล MEDED เพิ่มเติมได้ทาง meded.in.th

การประกาศรางวัลผลงานดีเด่นด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี BIDC Awards ในโครงการ BIDC 2022 จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ตลอดจนนักศึกษาในแวดวงดิจิทัลคอนเทนต์ให้มีกำลังใจในการผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในงาน BIDC ยังมีกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ และกิจกรรมเจรจาการค้า ติดตามรางวัลอื่นๆ และกิจกรรมในงาน BIDC 2022 เทศกาลดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ได้ทาง www.facebook.com/bidc.fest

- S 2466117 tn - ภาพที่ 9 - S 2466118 tn - ภาพที่ 11 - S 2466119 tn - ภาพที่ 13 - S 2466120 tn - ภาพที่ 15 - S 2466121 tn - ภาพที่ 17 - S 2466122 tn - ภาพที่ 19 - S 2466123 tn - ภาพที่ 21