ครั้งแรกในไทย! ดีแทค-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ เปิดตัว Mobility Data Dashboard เครื่องมือพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ต่อยอดงานวิจัย

Mobility Data Dashboard - dtac MobilityData Overall copy scaled - ภาพที่ 1

14 ธันวาคม 2565 – ดีแทค-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บเปิดตัว Mobility Data Dashboard แพลตฟอร์มเจาะลึกการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านข้อมูลมือถือ ต่อยอดงานวิจัย “Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง” เพิ่มโอกาสให้นักออกแบบนโยบายสาธารณะ ผู้สนใจด้านข้อมูล ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนทั่วไป เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านการเคลื่อนที่คลอบคลุม 77 จังหวัด และ บทวิเคราะห์ศักยภาพเมืองรองพร้อมกับข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดเพื่อพัฒนาสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะและบริการด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันตามศักยภาพของแต่ละเมืองแบบเจาะลึกรายพื้นที่ ละเอียดถึงระดับอำเภอ

สำหรับ Mobility Data Dashboard นี้ ถือเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยอาศัยกรอบการวิจัยภายใต้ “โครงการศึกษา Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง”  ผ่านข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยว กว่า 5.39 ล้านทริป ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บุญมีแล็บ ผู้ใช้งานสามารถเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัด โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. ภาพรวมจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูล 10 จังหวัดภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัด 10 อันดับปลายทางที่คนในจังหวัดออกไปท่องเที่ยว ปริมาณการท่องเที่ยวแบบไป-กลับและค้างคืน รวมถึงการแสดงผลดัชนีชี้วัดศักยภาพในรูปแบบกราฟประเมินศักยภาพ และข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพที่ต่างกันของเมืองรอง
  2. เจาะลึกระดับอำเภอ ประกอบด้วยข้อมูล 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางวันสูงสุด (06.01-22.00 น.) 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางคืนสูงสุด (22.01–06.00 น.) หรือเลือกแบบดูละเอียดได้ถึง 7 ช่วงเวลา ได้แก่ 06.01-10.00 น. 10.01-14.00 น. 14.01-18.00 น. 18.01-22.00 น. 22.01-23.59 น. 00.01-02.00 น. และ 02.01-06.00 น. นอกจากนี้ ยังระบุข้อมูลการกระจุกตัวตามช่วงวันหยุด ซึ่งแบ่งเป็นประเภทวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาว และวันหยุดเทศกาล
  3. ท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูลแสดงปริมาณทริปการเดินทางระหว่างกันของกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์ที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน ซึ่งในแต่ละจังหวัดนั้น สามารถจับกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันได้ตั้งแต่ 1-3 กลุ่ม

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เพราะดีแทคเชื่อในพลังของดาต้าที่จะสร้างอิมแพคต่อการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน นอกเหนือจากประเด็นการใช้ประโยชน์แล้ว “การเข้าถึงข้อมูล” ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงร่วมมือต่อเนื่องกับภาคีด้านวิชาการอย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุญมีแล็บ ในการพัฒนาเครื่องมือ Mobility Data Dashboard ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ครบถ้วนด้วยเนื้อหาสาระที่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่นโยบายสาธารณะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่ผู้ประกอบการนักลงทุนก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

“เครื่องมือ Mobility Data Dashboard ที่พัฒนาขึ้นนี้ ถือเป็นกระบวนทัศน์สำคัญในการทำงานด้านข้อมูล เพราะนอกจากการใช้ข้อมูลเป็น วิเคราะห์ได้แล้วการแสดงผลให้เข้าใจง่ายในรูปแบบแผนที่ การสื่อสารและเล่าเรื่องก็ถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการสร้างอิมแพคจาก Mobility Data ต่อสังคม ให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ข้อมูลนับล้านชุดมาโลดแล่นผ่านแผนที่และแดชบอร์ด ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย หรือเรียกได้ว่าเป็นการทำให้ข้อมูลดิบมีชีวิตนั่นเอง (Bringing Data to Life)” นายชารัด กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำและหัวหน้าหน่วยวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่องมือ Mobility Data Dashboard ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ  ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนในท้องถิ่นมีข้อมูลประกอบการตัดใจที่แม่นยำ ทำให้ทราบอุปสงค์ทางการท่องเที่ยวที่ชัดเจนมากขึ้น

จุดเด่นของเครื่องมือนี้ จะทำให้เราเห็นศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัด เพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือเป็น “เครื่องมือด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชิ้นแรก” ของไทย ที่จะช่วยให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจสามารถใช้เครื่องมือ Mobility Data Dashboard ได้ที่ https://dtac.co.th/mobility-data/dashboard/