สทป. จับมือ กพท. เปิดศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับแห่งแรกของไทย

8 เมษายน 2564  สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ The Civil Aviation Authority of Thailand (CAAT) ร่วมกันเปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ (Defence Technology Institute Unmanned Aircraft Systems Training Centre : DTI-UTC) ภายใต้ชื่องาน “DTI-UTC Grand Opening: Flying into the Future by DTI” เพื่อพัฒนาและยกระดับบุคลากรผู้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับให้มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมต่างชาติ และสร้างความเข้าใจกฎข้อบังคับต่าง ๆ ตามหลักการบินพาณิชย์ได้อย่างมีมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศและเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

- DTI UTC 2021041216 005 - ภาพที่ 1

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 สทป. ได้เตรียมความพร้อมตามแผนแม่บทในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบยานไร้คนขับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบอากาศยานไร้คนขับ และด้วยความตระหนักและเล็งเห็นถึงปัญหาของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และจำนวนนักบินระบบอากาศยานไร้คนขับที่มีความรู้และความชำนาญอยู่ในวงจำกัด

โดยเฉพาะในหน่วยงานความมั่นคงหรือทหารที่ใช้งานมานานแล้ว รวมถึงผู้ที่ใช้อากาศยานไร้คนขับที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญไม่เพียงพอ ด้วยเหตุทั้งหมดจึงริเริ่มรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนงานเพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC ในปี พ.ศ. 2561 พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานร่างหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นในปี พ.ศ. 2562 ได้ยื่นเรื่องขอรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization : ATO) กระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และในปี พ.ศ. 2564 จึงพร้อมเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรม  DTI-UTC อย่างเต็มรูปแบบและถูกต้องตามกฎหมาย

- DTI UTC 2021041216 003 - ภาพที่ 3

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยเคยได้รับธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เนื่องจากมาตรฐานด้านการบินของไทยมีความเสี่ยงสูงและไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศในภาพรวม สร้างมูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับให้ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ซึ่งไม่ใช่เพียงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจหรือประกอบอาชีพโดยใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) เป็นเครื่องมือ อาทิ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่มีการถ่ายทำภาพมุมสูง หรือด้านเกษตรกรรมที่ใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่ พืชผลการเกษตร ตรวจสอบการทำงานของแรงงานด้านเกษตรกรรม และการฉีดพ่นเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ตลอดจนภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย อาทิ การใช้โดรนช่วยในการดับเพลิง กระจายเสียง กู้ชีพผู้ประสบภัย เป็นต้น

- DTI UTC 2021041216 004 - ภาพที่ 5

ด้าน นายกลศ เสนาลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แผนงานของศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC ได้จัดทำหลักสูตร Remote Pilot Licence (RPL) ซึ่งเป็นชื่อที่ กพท. จะใช้ออกเป็นใบอนุญาตนักบินอีกประเภทหนึ่ง มีอายุ 5 ปี จากเดิมที่มีใบอนุญาตนักบินแบบ Private Pilot Licence (PPL) สำหรับการบินเครื่องบินส่วนตัว และใบอนุญาตนักบินแบบ Commercial Pilot Licence (CPL) สำหรับการบินเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของหลักสูตรไม่ใช่การฝึกอบรมเพื่อความรู้ความเข้าใจต่อการใช้โดรนเพื่อการถ่ายภาพหรือวัตถุประสงค์ทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งพัฒนา 3H ประกอบด้วย ความรู้ (Head) ความชำนาญ (Hand) และทัศนคติที่ถูกต้อง (Heart) เพื่อให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถในการใช้โดรนตามภารกิจได้อย่างปลอดภัย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อไปสอบใบอนุญาตจาก กพท. อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมการใช้อากาศยานไร้คนขับ

- DTI UTC 2021041216 001 - ภาพที่ 7

กล่าวคือ การซื้อโดรนเป็นเรื่องง่ายและเมื่อนำมาใช้ตามคำแนะนำในคู่มือก็สามารถบินได้จริง แต่อย่างไรก็ดี อากาศยานไร้คนขับยังใช้ห้วงอากาศเดียวกับเครื่องบิน สิ่งที่ศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC จะสอน คือการปฏิบัติตามกฎการบิน การบินด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือขึ้นบินแล้วไม่เกิดอุบัติภัย และไม่เข้าไปในพื้นที่ห้ามบิน เราจึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC และในอนาคตจะต้องมีใบอนุญาตบินโดรน เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์ และจะเป็นโอกาสสร้างอาชีพเฉพาะทาง คือ อาชีพนักบินอากาศยานไร้คนขับหรือ Remote Pilot”

- DTI UTC 2021041216 002 - ภาพที่ 9

สำหรับรายละเอียดหลักสูตร 1.หลักสูตร Remote Pilot Visual Line of Sight Certificate (RVC) หลักสูตรนักบินระบบอากาศยานไร้คนขับ และ 2.หลักสูตร Instructor Remote Pilot Visual Line of Sight Certificate (IRVC) หลักสูตรครูการบินระบบอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตร จะแบ่งออกเป็นประเภทอากาศยานไร้คนขับแบบ Aero Plane ค่าใช้จ่ายประมาณ 60,000 บาท ระยะเวลาเรียน 3 สัปดาห์ ประกอบด้วยภาคทฤษฎี จำนวน 18 ชั่วโมง ภาคการฝึกจำลองการบิน จำนวน 2 ชั่วโมงบิน และภาคอากาศ จำนวน 10 ชั่วโมงบิน และแบบ Multi – Rotor ระยะเวลาเรียน 2 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ประกอบด้วยภาคทฤษฎี จำนวน 18 ชั่วโมง ภาคการฝึกจำลองการบิน จำนวน 2 ชั่วโมงบิน และภาคอากาศ จำนวน 5 ชั่วโมงบิน ทั้งนี้ตามมาตรฐานการบินโดรนทั้งทางยุโรป สหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย จะกำหนดความสามารถของนักบินโดรนให้มีความรู้เทียบเท่ากับนักบินที่ขับเครื่องบินส่วนบุคคล (PPL) เพราะการบินโดรนก็ต้องใช้ห้วงอากาศเดียวกันกับเครื่องบินจริง

- DTI UTC 2021041258 001 - ภาพที่ 11

ด้าน โบว์-เมลดา สุศรี นางเอกสาวคนใหม่ของวิกสาม ได้เปิดเผยความรู้สึกจากการได้เข้าเป็นนักเรียนในหลักสูตรของ DTI-UTC ว่า ส่วนตัวมีความสนใจต่อการใช้งานอากาศยานไร้คนขับอยู่แล้ว เพราะคุ้นเคยกับโดรนในฐานะนักแสดงที่มีฉากในการใช้โดรนในการถ่ายทำภาพมุมสูงตลอด จึงทำให้เกิดความสนใจอยากศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหลักกฎข้อบังคับ ท่าบินที่ถูกต้อง ซึ่งลำพังการซื้อโดรนมาใช้เป็นเรื่องง่ายเพราะแต่ละเครื่องจะมาพร้อมคู่มือที่อธิบายการใช้งานไว้อย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการฝึกอบรมจะสามารถนำโดรนมาใช้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนไม่สร้างความเสียหายในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นอนาคต

สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก ค้นหาคำว่า “ศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ DTI – UTC” หรือ “Defence Technology Institute” หรือ ติดต่อสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (แจ้งวัฒนะ) ชั้น 5 เลขที่ 47/433 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ : 0 2980 6688 โทรสาร : 0 2980 6199

สำหรับรายละเอียดหลักสูตร

- DTI UTC 2021041216 006 - ภาพที่ 13

ติดตามเพจ