IBM เผยศักยภาพในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการค้าปลีกและท่องเที่ยว หลังผู้บริโภคได้รับวัคซีนโควิด-19

Lazada

- ConsumerStudy 02 - ภาพที่ 1

ผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) เผยให้เห็นว่าผู้บริโภคมองถึงแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมหลักๆ อย่างค้าปลีก ท่องเที่ยว และขนส่ง จะต้องสร้างประสบการณ์ที่เข้าถึงความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้น หากต้องการคงความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดลูกค้าให้สำเร็จ

การศึกษาผู้บริโภคมากกว่า 15,000 คนทั่วโลก พบว่าคนส่วนใหญ่มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการกระจายวัคซีนโควิด-19 และมากกว่าครึ่งคาดหวังว่าวัคซีนโควิด-19 จะช่วยปกป้องพวกเขาได้ เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมองว่าระดับการฉีดวัคซีนจะต้องเกิน 70% ถึงจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้

หากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงดำเนินไปในอัตราปัจจุบัน คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับความสะดวกสบายแบบที่เคยได้รับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2022 โดยการศึกษาระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ผู้บริโภคกำลังมองถึงการปรับวิธีการทำงาน เข้าสังคม ท่องเที่ยว และซื้อของ

“ความเคยชินต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดได้เพิ่มความคาดหวังของผู้บริโภคเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของแบรนด์ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการอย่างค้าปลีก ท่องเที่ยว และขนส่ง” นายเฮซุส แมนทัส Senior Managing Partner ของไอบีเอ็ม เซอร์วิสเซสกล่าว “หลายธุรกิจเริ่มมองถึง ‘การกลับมาสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาด’

ซึ่งธุรกิจต่างๆ จะต้องเร่งพัฒนาระบบดิจิทัลบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเอไอและคลาวด์ เพื่อที่จะคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ การลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์ไฮบริดที่ผสมผสานทั้งกิจกรรมเชิงกายภาพและดิจิทัลเข้าด้วยกัน จะช่วยมอบประสบการณ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะบุคคลได้อย่างไร้รอยต่อยิ่งขึ้น”

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

ผู้บริโภคทั่วโลกที่สำรวจส่วนใหญ่พร้อมที่จะกลับไปซื้อของในห้างร้านเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว การศึกษาพบว่ากระแสอาจเปลี่ยนไปสำหรับอุตสาหกรรมการค้าปลีกที่ซบเซา โดยผู้บริโภคระบุถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้กลับไปที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าอีกครั้ง หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่สำรวจจำนวนมากอาจไม่ละทิ้งทางเลือกในการช็อปปิงออนไลน์ที่พวกเขาคุ้นเคยในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีกลุ่มที่สำรวจอย่างน้อยหนึ่งในห้าคนที่ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่คาดว่าจะซื้อสินค้าในห้างร้านบ่อยขึ้นมาก หากว่าฉีดวัคซีนแล้ว

หมวดหมู่สินค้าที่คาดว่าผู้บริโภคน่าจะกลับไปซื้อที่ร้านค้ามากที่สุดคือของเล่น เกม และสินค้าที่เกี่ยวกับงานอดิเรก (เพิ่มขึ้น 121%) รวมถึงเครื่องแต่งกาย รองเท้า และเครื่องประดับ (เพิ่มขึ้น 76%)

เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคที่สำรวจทั่วโลกยังคงจะซื้อสินค้าออนไลน์ต่อไปคือเรื่องความสะดวก ตามมาด้วยความคุ้มค่า และความหลากหลายของสินค้าที่มีขายออนไลน์ หากจะดึงดูดให้ผู้บริโภคกลับไปซื้อของที่ห้างร้าน ผู้ค้าปลีกต้องมองถึงการจัดโปรโมชันและการเน้นสินค้าท้องถิ่น โปรโมชันในห้างเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะช่วยดึงผู้บริโภคให้ไปเลือกซื้อสินค้าที่ห้างร้าน

โดยเฉพาะกลุ่มเจนเอ็กซ์ (54% ที่สำรวจ) และเบบี้บูมเมอร์ (52% ที่สำรวจ) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ไม่มีจำหน่ายออนไลน์ อย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในปริมาณน้อย และเครื่องแต่งกายทำมือ อาจสามารถดึงดูดกลุ่มมิลเลนเนีลยล เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์เกือบ 50% ที่สำรวจให้มาซื้อสินค้าที่ร้านได้

- ConsumerStudy 01 - ภาพที่ 3

ศักยภาพในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในขณะที่การเดินทางของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็มีเริ่มส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจน การศึกษาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น โดยคน 30% วางแผนที่จะบินบ่อยขึ้น แม้ว่าจะสวนทางกับ 23% ของผู้ที่สำรวจที่วางแผนที่จะบินน้อยลง

การศึกษาพบว่าผู้บริโภคที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่า มองถึงการเดินทางค้างคืนในหกเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ประชากรกลุ่มใหญ่ยังมีแผนที่จะอยู่บ้านไปเรื่อยๆ โดยประมาณหนึ่งในสี่ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าพวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะเดินทางในปี 2564 แม้ว่าจะได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ตาม

วัคซีนอาจช่วยกระตุ้นการเดินทางที่เกี่ยวกับงาน โดยผู้ที่สำรวจรู้สึกสะดวกใจที่จะเดินทางที่เกี่ยวข้องกับงานเพิ่มขึ้นสองถึงสี่เท่าในประเทศส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางเพื่อธุรกิจที่มีอายุมากกว่า แสดงความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวน้อยกว่า โดยมีกลุ่มที่อายุมากกว่า 55 ปีเพียง 8% เท่านั้นที่สะดวกใจจะเดินทางเพื่อธุรกิจขณะที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และมีเพียง 25% เท่านั้นที่รู้สึกสะดวกใจแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว

การศึกษายังชี้ให้เห็นว่ายานพาหนะส่วนบุคคลยังเป็นทางเลือกสำคัญทั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหลังจากที่ประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว แม้ว่า 10% ของผู้ที่สำรวจวางแผนที่จะใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลน้อยลงหลังจากได้รับวัคซีน แต่ผู้บริโภค 47% มองว่าจะใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมากขึ้น

การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าการเดินทางรูปแบบอื่นๆ อาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรืออาจมีความต้องการลดลงเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น อุตสาหกรรมเรือสำราญอาจประสบกับการตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุด โดย 26% ของผู้สำรวจระบุว่าพวกเขาจะใช้เรือสำราญน้อยลง ขณะที่มีเพียง 17% ที่ระบุว่าจะใช้มากขึ้น

- ConsumerStudy 04 - ภาพที่ 5

ผลสำรวจกลุ่มเจนซี (ผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี) มีความแตกต่างออกไป

แนวโน้มหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างกันออกไปในผู้บริโภคที่ได้รับการสำรวจแต่ละกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเจนซีที่สำรวจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 กลับแสดงแนวโน้มที่แตกต่างออกไปในหลายๆ ด้าน

กลุ่มเจนซีที่สำรวจส่วนใหญ่ต้องการใช้เวลาร่วมกับคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวหลังได้รับวัคซีนแล้ว โดย 27% ของกลุ่มเจนซีที่สำรวจระบุว่าจะมีปฏิสัมพันธ์นอกบ้านมากขึ้น เทียบกับเพียง 19% ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ และเพียง 16% ของกลุ่มที่อายุเกิน 55 ที่สำรวจ

โดยกลุ่มเจนซีสนใจที่จะกลับไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอย่างการแข่งขันกีฬา สถานบันเทิงหรือสวนสนุก พิพิธภัณฑ์และอาร์ตแกลลอรี รวมถึงกิจกรรมการแสดงสด และโรงภาพยนตร์ น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ที่สำรวจ ยกเว้นการไปร้านอาหารและสถานที่ที่ให้บริการฟรีอย่างชายหาดและสวนสาธารณะ

โดยเฉลี่ยแล้ว 60% ของกลุ่มเจนซีที่สำรวจมีแผนที่จะไปสถานที่อย่างร้านอาหารและบาร์ ร้านเสริมสวยและร้านตัดผม เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว เทียบกับ 71% ของกลุ่มมิลเลนเนียล และ 69% ของกลุ่มเจนเอ็กซ์ที่สำรวจ และดูเหมือนพฤติกรรมนี้จะเป็นเทรนด์ต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มเจนซีที่สำรวจก็ระบุว่าออกไปยังสถานที่ต่างๆ น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นเช่นกัน

- ConsumerStudy 03 - ภาพที่ 7