การเขียนจดหมาย หรือหนังสือแนะนำตัว เพื่อยื่นสมัครเรียน หรือสมัครงาน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้มหาลัย และบริษัท สนใจในตัวคุณ ตั้งแต่ยังไม่ได้สัมภาษณ์คุณ อีกทั้งยังสามารถสร้างความประทับใจให้กับมหาลัย และบริษัทได้อีกด้วย ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงจะมาแนะนำหลักการเขียนจดหมาย หรือหนังสือแนะนำตัว ภาษาไทย เพื่อยื่นสมัครเรียน หรือสมัครงานที่ถูกต้องมาให้เพื่อน ๆ นำไปใช้กันค่ะ
แนะนำหลักการเขียนจดหมาย หรือหนังสือแนะนำตัว ภาษาไทย
จดหมายแนะนำ หรือจดหมายสมัครงาน เป็นสิ่งที่จะแนะนำให้แผนกบุคคลพิจารณา ถึงคุณสมบัติของบุคคลนั้น ๆ ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานในบริษัทมากน้อยเพียงไร ดังนั้น จดหมายแนะนำจึงต้องกระทัดรัด ชัดเจน และสามารถกระตุ้นความสนใจจากผู้อ่านให้ได้
ความยาวของจดหมายแนะนำตัว ควรจะมีความยาวประมาณ 400-600 ตัวอักษร แบ่งเป็น 4-5 ย่อหน้า ขนาดกระดาษ A4 สำหรับการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับสูงกว่าปริญญาตรี และปริญญาโทนั้น จดหมายแนะนำตัวจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1,500 ตัวอักษร แต่ทั้งนี้ควรศึกษาให้ดีว่าแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นกำหนดความยาวของจดหมายแนะนำตัวไว้อย่างไร โดยสามารถเข้าไปเช็คในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเขียนจดหมายแนะนำตัว สมัครเรียน
- ใช้ฟอนต์ Arial หรือ Times New Roman
- ใช้ฟอนต์ขนาด 11 หรือ 12
- เขียนโดยแบ่งเป็น 4-5 ย่อหน้า
- เขียนถึงเหตุผลที่เลือกมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
- ไม่เขียนถึงข้อมูลทางด้านลบ
- ไม่เขียนข้อความซ้ำกับสิ่งที่เขียนไว้ในเรซูเม่
- ใช้กระดาษขนาด A4 โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัย
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเขียนจดหมายแนะนำตัว สมัครงาน
- พิมพ์ให้สะอาดเรียบร้อยด้วยกระดาษพิมพ์ขนาดสั้น (8×1/2″ x 11″) ทุกครั้ง แต่ถ้าในประกาศรับสมัครระบุให้เขียนด้วยลายมือตนเอง ก็ควรเขียนตัวบรรจง ให้อ่านง่ายสะอาดเรียบร้อย และสวยงาม
- มีความยาวจำกัดเพียง 1 หน้ากระดาษ
- ใช้ฟอร์มการเขียนแบบจดดหมายธุรกิจ และต้องปราศจากข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งสิ้น
- เจาะจงนามบุคคลแทนการกล่าวตำแหน่งหรือผู้เกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะสามารถสะกด ชื่อ-นามสกุล ได้อย่างถูกต้อง หรือไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครก็ควรจะใช้ “ผู้จัดการฝ่ายบุคคล” หรืออื่น ๆ ที่ประกาศรับสมัครงานระบุไว้
- ต้องส่งพร้อม RESUME ทุกครั้ง ข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนจดหมายแนะนำหรือจดหมายสมัครงานควรที่จะทำให้นายจ้างหรือแผนกบุคคลสนใจและเรียกตัวเข้าสัมภาษณ์ ข้อมูลที่กล่าวนี้อาจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. คุณเป็นใคร และทำไมคุณจึงเขียนจดหมายส่งไปยังบริษัท
2. กล่าวถึงความสามารถของคุณที่คาดว่าจะมีคุณค่าต่อบริษัท
3. กล่าวถึงความสนใจของคุณที่มีต่อบริษัทโดยการพูดถึงสิ่งที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณได้สละเวลาศึกษาค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับบริษัท
ตัวอย่างการหนังสือแนะนำตัว
การเขียนจดหมาย หรือหนังสือแนะนำตัว ไม่ว่าจะยื่นสมัครเรียน หรือสมัครงาน สิ่งที่ห้ามลืมก่อนส่ง คือ การตรวจทานการสะกดคำ และเช็คความถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ นอกจากนี้ควรส่งจดหมายแนะนำตัว และใบสมัครก่อนเวลา ไม่ควรส่งกระชั้นชิดหรือในวันสุดท้ายของกำหนดการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความกระตือรือร้น และแสดงถึงสนใจที่อยากจะเรียน หรือทำงานที่นี่จริง ๆ ดังนั้น การเขียนจดหมาย หรือหนังสือแนะนำตัว จึงต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญในทุก ๆ รายละเอียดค่ะ
รูปภาพ: https://www.mediabistro.com