กสิกรไทยเปิดตัว MAKE by KBank โมบายแบงกิ้งของคนรุ่นใหม่

Lazada

กสิกรไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน MAKE by KBank (เมค บาย เคแบงก์) โมบายแบงกิ้ง เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้น ให้อิสระจัดการการเงินอย่างที่ตัวเองต้องการและสามารถจัดการการเงินเป็นกลุ่ม โดยพัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบฟีเจอร์ทางการเงินตอบรับชีวิตยุค New Normal ที่ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี เบื้องต้นมี 3 ฟีเจอร์หลักอย่าง Pop Pay บริการโอนเงินผ่านบลูทูธ Chat Banking บันทึกประวัติการทำธุรกรรมในรูปแบบโซเชียลแชท และ Cloud Pocket ช่องทางจัดเก็บเงินตามความต้องการ พร้อมเปิดตัวเต็มรูปแบบปลายปี 2563

MAKE by KBank - MAKE by KBank L - ภาพที่ 1

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า แม้ธนาคารกสิกรไทยจะมี K PLUS โมบายแบงกิ้งที่ครองอันดับหนึ่งในประเทศไทย ที่มีลูกค้าใช้บริการ 13 ล้านรายอยู่แล้ว แต่ธนาคารก็ยังคงต้องการที่จะยกระดับและเปิดประสบการณ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ (Experimental Banking) อยู่เสมอ ไม่เลือกที่จะยึดติดขนบเดิม พร้อมทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกเพศทุกวัย จึงเป็นที่มาของแอปพลิเคชัน เมค บาย เคแบงก์ โมบายแบงกิ้งที่สามารถตอบโจทย์การบริหารเงินของคนรุ่นใหม่อย่างดีที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กสิกรไทยจับมือการีนา ให้เหล่าเกมเมอร์เติมเงินเกม RoV ได้ง่ายๆ ด้วย K PLUS

MAKE by KBank - Make Infographic - ภาพที่ 3

KBTG ได้พัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบฟีเจอร์โดยมีแนวคิดหลักคือ 1. MAKE it Social ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี ฟีเจอร์ที่พัฒนาจึงทำให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง และสามารถแชร์ร่วมกันระหว่างเพื่อนหรือบุคคลที่ต้องการได้ 2. MAKE it Fast พัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบฟีเจอร์ที่ทำให้การจัดการการเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย 3. MAKE it Scalable พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มการใช้โมบายแบงกิ้งมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: FinVest แอปที่ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย โดย KBank และ LU และ Robowealth

ในช่วงแรกนี้แอปประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลักที่เหมาะกับชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ยุค New Normal จัดการทุกอย่างผ่านบัญชีธนาคารเดียว

3 ฟีเจอร์หลัก ของ MAKE by KBank

ฟีเจอร์ Pop Pay บริการโอนเงินอัจฉริยะที่สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม เพราะสามารถโอนเงินผ่านบลูทูธ ให้คนที่อยู่ในระยะ 10 เมตรได้เลยโดยไม่ต้องขอเลขบัญชี หมายเลขโทรศัพท์ หรือ QR Code จากอีกฝ่าย ยกระดับวิธีโอนเงินแบบ Contactless ที่สะดวกและง่ายขึ้นไปอีกขั้น สร้างสรรค์ประสบการณ์การทำธุรกรรมธรรมดาให้ไม่ธรรมดา เพียงแค่กดเลือกไอคอนเพื่อนที่มีบัญชี เมค บาย เคแบงก์ เหมือนกันและอยู่ในรัศมีที่กำหนด กดส่งเงินได้ภายในคลิกเดียว

MAKE by KBank - 2020 11 28 13 59 10 - ภาพที่ 5

ฟีเจอร์ Chat Banking บันทึกรายการการทำธุรกรรมสไตล์ใหม่ ที่ผู้ใช้สามารถเก็บบันทึกประวัติการโอนเงินระหว่างเพื่อนเป็นรูปแบบของโซเชียลแชท (Social Chat) คล้ายคลึงกับบริการส่งข้อความหรือแอปแชทนิยาย โดยผู้โอนเงินสามารถแนบรูปภาพหรือเขียนบันทึกของการโอนนั้น ๆ ได้เพื่อให้ง่ายต่อการย้อนดูภายหลัง

MAKE by KBank - 2020 11 28 13 59 20 - ภาพที่ 7

ฟีเจอร์ Cloud Pocket ที่สามารถสร้างกระเป๋าเงินย่อยไว้แยกเก็บเงินในบัญชีได้ไม่จำกัดจำนวน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ ได้ สร้างเป็น Cloud Pocket ส่วนตัว เพื่อจัดสรรเงินสำหรับการใช้ส่วนบุคคล เช่น เงินออม ค่าใช้จ่ายรายเดือนของบริการต่าง ๆ ค่าของขวัญสำหรับคนพิเศษ ค่าชอปปิ้ง ฯลฯ หรือจะชวนเพื่อนมาร่วม Cloud Pocket ของตนเพื่อเก็บเงินเป็นกองกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรม ไปทริป หรือซื้อของร่วมกัน สร้างความเป็น Community-Based มากขึ้นก็ได้เช่นกัน สามารถย้ายเงินข้าม Pocket ได้อย่างสะดวก ไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งมีการแจ้งเตือนเวลามีเงินโอนเข้า และยังสามารถตั้งค่าโอนอัตโนมัติได้อีกด้วย

MAKE by KBank - 2020 11 28 13 58 41 - ภาพที่ 9

เปิดบัญชี MAKE by KBank

การเปิดบัญชี MAKE by KBank ทำได้ง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากนั้นระบบจะให้ยืนยันตัวตนผ่านแอป KPLUS เปรียบเสมือนการเปิดบัญชีออมทรัพย์ปกติ ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถทำการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตร (กดไอคอน MAKE ที่หน้าจอตู้เอทีเอ็ม) หากต้องการโอนเงินก็สามารถทำได้ปกติเพียงมีเลขบัญชีผู้รับปลายทาง

MAKE by KBank - MAKE by KBank - ภาพที่ 11

ขณะนี้แอปพลิเคชันอยู่ในช่วงให้พนักงานธนาคารกสิกรไทยและ KBTG ทดลองใช้งาน สำหรับลูกค้าหรือบุคคลที่สนใจร่วมทดลองใช้งานเป็นกลุ่มแรก ได้เปิดให้สมัครเป็น Beta User และได้ปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2563 การเปิดให้ใช้ในวงจำกัดนี้จะช่วยให้ทางทีมพัฒนาสามารถรับความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้าทั่วไปได้ใช้งานเต็มรูปแบบในปลายปี 2563