ทำความรู้จักกับ โรคแพนิค คืออะไร? อาการแพนิคเป็นอย่างไร?

โรคแพนิค

โรคแพนิค เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันมาบ้าง หรืออาจจะเคยได้ยินคนพูดในขณะที่กำลังตกใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง มักพูดว่า อย่าแพนิค มีสติเข้าไว้ เนื่องโรคนี้ในปัจจุบันเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าโรคนี้คืออะไร วันนี้เราก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคแพนิค และอาการของโรคแพนิคให้มากขึ้นกันค่ะ

ทำความรู้จักกับโรคแพนิค

โรคแพนิค คืออะไร?

โรคแพนิค - Panic Disorder 02 scaled - ภาพที่ 2

ที่มา: perspectivestherapyservices.com

โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่า โรคตื่นตระหนก ซึ่งเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ โดยผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก

อาการแพนิคเป็นอย่างไร?

โรคแพนิค - Panic Disorder 01 - ภาพที่ 4

ที่มา: health.clevelandclinic.org

  • ใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นแรง
  • หายใจหอบ หายใจถี่
  • เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก
  • ตัวสั่น มือเท้าสั่น
  • คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง
  • วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ คล้ายจะเป็นลม
  • หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง
  • ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้

สาเหตุของโรคแพนิค

โรคแพนิค - Panic Disorder 03 - ภาพที่ 6

ที่มา: healthline.com

โรคแพนิคเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป เกิดจากได้หลายสาเหตุ ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ คือ สาเหตุทางกาย และสาเหตุทางจิตใจ

สาเหตุทางกาย

  • ปัจจัยด้านพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล มีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในเครือญาติ
  • ปัจจัยด้านฮอร์โมนในร่างกาย ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป เกิดเป็นโรคแพนิคได้

สาเหตุทางจิตใจ

  • ความเครียด ความวิตกกังวล พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับมือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เป็นต้น
  • ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง หรือมีประสบการณ์  เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น การสูญเสีย ผิดหวังรุนแรง

การรักษาโรคแพนิค

โรคแพนิค - Panic Disorder 04 - ภาพที่ 8

ที่มา: psychologicalhealthcare.com.au

โรคแพนิครักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม ซึ่งการรักษาโรคแพนิคที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

โรคแพนิค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคอาจไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรง อื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้น หากสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิค ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

ข้อมูล: praram9.com , sikarin.com และ paolohospital.com

ติดตามเพจ