Stroke โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุการเสียชีวิต และพิการอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ

- stroke cover - ภาพที่ 1

Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นอีกโรคที่ทำให้เสียชีวิต และพิการอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้สูญเสียการทำงานอย่างเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ตามองไม่เห็น ชาครึ่งซีก หรือเป็นอัมพาตแบบครึ่งซีก พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมอง ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้น การรู้เท่าทัน ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง คือสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจให้ความสำคัญ และดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด

- stroke 02 - ภาพที่ 3

Stroke โรคหลอดเลือดสมอง 

Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจน และสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง สามารถเป็นได้ทุกวัย

ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke )  พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูของหลอดเลือดค่อย ๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสม
ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะเเละโป่งพอง และสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack (TIA))  มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

สาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง

1. อายุที่มากขึ้น เพราะความเสื่อมของหลอดเลือดสมองมีมากขึ้นตามอายุ
2. โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
3. โรคเบาหวาน เพราะจะทำให้หลอดเลือดสมองแข็งตัว ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน
4. โรคไขมันในเลือดสูง เพราะระดับไขมันในเลือดที่สูงจะส่งผลให้หลอดเลือดแข็งตัว และเกิดการตีบ
5. สูบบุหรี่ และดื่มสุราเป็นประจำ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
6. โรคอ้วน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

- stroke 01 - ภาพที่ 5

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง (BEFAST)

  • B – BALANCE เวียนศีรษะ ตามองไม่เห็น การทรงตัวไม่ดี เดินเซ ทันทีทันใด
  • E – EYES ตามองไม่เห็นข้างเดียว หรือสองข้าง  ทันทีทันใด
  • F – FACE หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ครึ่งซีก ทันทีทันใด
  • A – ARM แขนขา อ่อนแรง ครึ่งซีก ทันทีทันใด
  • S – SPEECH พูดไม่ชัด สื่อสาร ไม่เข้าใจ ทันทีทันใด
  • T – TIME รีบไปโรงพยาบาล โทร.1669 ทันทีทันใด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

  • การรักษาด้วยยา
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
  • การทำกายภาพบำบัด

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

1. ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียม และไขมันอิ่มตัวสูง
  • ออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30-40 นาที
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และคลายเครียดสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก ควรมีค่า BMI < 25 kg/m2

2. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

  • ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด
  • ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การฟังเสียงหัวใจ และนับชีพจร โดยแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกัน และเตรียมตัวสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • ตรวจคัดกรองภาวะหลอดเลือดที่คอตีบ โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสูง เช่น เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรืออายุมากกว่า 50 ปื ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุรี่ หรือเป็นเบาหวาน

3. รู้จักป้องกันการเป็นซ้ำ

สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และผ่านการรักษาโดยแพทย์จนพ้นวิกฤติแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอไม่ปรับยา และหยุดยาเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำ

4. เมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้ว รีบไปพบแพทย์ด่วน

เนื่องจากโรคนี้เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นหากมีอาการปากเบี้ยว แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ให้ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการ และเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกาย และการใช้ชีวิต นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพ และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือสิ่งสำคัญ ดังนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ

ข้อมูล: kinrehab.com , sikarin.com และ vejthani.com