ทำความรู้จักกับขี้ทอนซิล หนึ่งในสาเหตุของกลิ่นปาก

การมีกลิ่นปาก เป็นปัญหาที่ใครหลาย ๆ คน ไม่อยากให้เกิด เพราะทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจเวลาพูดคุยกับคนอื่นได้ ซึ่งบางครั้งแปรงฟันแล้วก็ยังไงก็ไม่หาย แถมยังรู้สึกระคายเคืองคอ รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอเวลากลืนอาหารหรือดื่มน้ำ อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนของขี้ทอนซิล ซึ่งเป็นการสะสมของแบคทีเรียที่แม้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่หากไม่รีบรักษาการติดเชื้อที่เรื้อรังจะส่งผลให้กลิ่นปากทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ ซึ่งวันนี้เราก็จะพาคุณไปทำความรู้จักกับขี้ทอนซิล หนึ่งในสาเหตุของกลิ่นปาก ที่ใครหลายคนอาจจะเป็นอยู่ แต่ยังไม่รู้ตัว

- tonsil stones cover - ภาพที่ 1

ทำความรู้จักกับขี้ทอนซิล (Tonsil Stones)

ขี้ทอนซิล คืออะไร?

ขี้ทอนซิล ขี้ไคลทอนซิล หรือนิ่วทอนซิล (Tonsil Stones) เป็นการรวมตัวกันของแบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ตามซอกหลืบ และเกิดอุดที่บริเวณท่อทอนซิล ซึ่งขี้ทอนซิลจะมีลักษณะเป็นก้อนสีขาวเหลืองขุ่น ๆ ขนาดเท่าเมล็ดข้าวหรือเมล็ดถั่ว แม้ว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ขี้ทอนซิลนี้จะส่งผลให้เกิดกลิ่นปากหรือลมหายใจเหม็น

นอกจากนี้ขี้ทอนซิลยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และเจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก หรือทอนซิลบวมได้

- Tonsil stones 01 - ภาพที่ 3

การรักษาขี้ทอนซิล

1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หากไม่แน่ใจว่าปัญหาเรื่องกลิ่นปากที่เผชิญอยู่เกิดจากขี้ทอนซิลหรือไม่ ให้ลองบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือกลั้วคอแรงกว่าปกติ เพื่อให้ก้อนขี้ทอนซิลค่อย ๆ หลุดออกมา พร้อมทั้งช่วยลดการระคายเคืองในช่องคอ

2. ใช้คอตตอนบัดเขี่ยออก หากเห็นขี้ทอนซิลได้ชัด แต่วิธีนี้ก็ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้บริเวณคอเกิดการบาดเจ็บ ระคายเคือง หรือเลือดออกได้ ข้อควรระวังอีกหนึ่งอย่างคือการใช้อุปกรณ์เหล่านี้สอดเข้าไปในลำคออาจก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายจะอาเจียนได้เช่นกัน

3. นวดต่อมทอนซิล เนื่องจากต่อมทอนซิลมีตำแหน่งอยู่บริเวณใต้ขากรรไกรล่าง ซึ่งการกดหรือนวดเบา ๆ ที่ใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่างอาจช่วยดันให้ขี้ทอนซิลหลุดออกมาได้

4. รักษาด้วยการผ่าตัด ในการกำจัดก้อนนิ่วทอนซิลด้วยการผ่าตัด อาจใช้วิธีการผ่าตัดด้วยเลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วทอนซิล หรือการผ่าตัดต่อมทอนซิลในกรณีที่อาการเรื้อรัง

- Tonsil stones 02 - ภาพที่ 5

การป้องกันการเกิดขี้ทอนซิล

1. ดูแลสุขภาพช่องปาก และฟัน โดยการแปรงฟันแบบถูกวิธี และเน้นการแปรงบริเวณหลังลิ้น

2. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดการก่อตัวของก้อนนิ่ว

3. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ

4. หากพบความผิดปกติของต่อมทอนซิล ควรปรึกษาแพทย์

ดังนั้น หากคุณสงสัยว่าจะมีขี้ทอนซิล และมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น และได้ลองใช้วิธีไม่ผ่าตัด แล้วแต่ปัญหาดังกล่าว ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพราะแพทย์จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ข้อมูล: pobpad.com , paolohospital.com และ si.mahidol.ac.th

รูปภาพ: wfsnews.org และ dentasay.com