นักวิจัยใช้ Apple Watch เพื่อศึกษาองค์ความรู้ใหม่ด้านสุขภาพหัวใจ

Apple Watch - Apple heart health hero big.jpg.large - ภาพที่ 1

ในแต่ละวันหัวใจของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีโดยเฉลี่ยจะเต้นมากกว่า 100,000 ครั้ง การเต้นแต่ละครั้งในแต่ละวันก่อให้เกิดเป็นภาพซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนไม่ทันสังเกตเห็น แต่ Apple Watch ทำให้มองเห็นสิ่งที่เคยมองไม่เห็นมาก่อน คุณสมบัติสุขภาพหัวใจ ได้แก่ การแจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจเร็วและช้า การแจ้งเตือนคาร์ดิโอฟิตเนส การแจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ แอป ECG และประวัติภาวะ AFib ทั้งหมดทำให้ Apple สามารถมอบมุมมองพัฒนาการด้านสุขภาพของผู้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องพร้อมข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง
เทคโนโลยีสุดล้ำแบบเดียวกันที่มอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ยังมีศักยภาพในการเปิดโลกเพื่อการค้นพบใหม่ๆ แก่ชุมชนด้านการวิจัยและการแพทย์อีกด้วย นับตั้งแต่ที่ Apple เปิดตัว ResearchKit และ CareKit เมื่อปี 2015 ก็ทำให้นักวิจัย แพทย์ และนักพัฒนา ค้นพบแนวทางใหม่ที่ล้ำหน้าในการศึกษา ติดตาม และรักษาอาการหลากหลายรูปแบบ
Apple ยังได้เปิดตัว Investigator Support Program ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้นพบใหม่ๆ ที่ปรับปรุงเรื่องสุขภาพได้ในวงกว้าง โดย Apple ได้มอบอุปกรณ์ Apple Watch แก่นักวิจัยผ่านโปรแกรมดังกล่าว ทำให้นักวิจัยสามารถคิดค้นงานวิจัยเพื่อสุขภาพใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงวิทยาศาสตร์ด้านการทำความเข้าใจเรื่องหัวใจ
Apple นำเสนอผลงานที่ทันสมัยของนักวิจัยด้านสุขภาพทั่วโลกที่ใช้ Apple Watch เพื่อศึกษาเรื่องหัวใจในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
Apple Watch - Apple heart health ECG inline.jpg.large - ภาพที่ 3
แอป ECG บน Apple Watch Series 4 หรือใหม่กว่า สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจและจังหวะการเต้นโดยใช้เซ็นเซอร์วัดหัวใจแบบไฟฟ้า และยังสามารถแชร์รูปแบบคลื่น ECG ที่จัดเก็บในแอปสุขภาพเป็นไฟล์ PDF ได้ด้วย
รองศาสตราจารย์ Rachel Conyers และ ดร. Claudia Toro ซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสด้านโรคมะเร็งในเด็กจากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ใช้เวลาโดยส่วนใหญ่ไปกับการดูแลเด็กๆ ที่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิด้านโรคมะเร็งในเด็กและการวิจัยความเป็นพิษเกี่ยวกับการรักษามะเร็งในเด็กภายใต้ Murdoch Children’s Research Institute ทั้งสองคนร่วมกันศึกษาว่าการรักษามะเร็งอาจส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างไร และพยายามมองหาแนวทางที่ทันสมัยเพื่อยับยั้งปัญหาดังกล่าว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ป่วยของทั้งสองคน ทั้งในกรณีที่ประสบความสำเร็จและที่เป็นเรื่องเศร้า

ความเป็นพิษในการรักษามะเร็งอาจก่อให้เกิดการรบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจ เช่น กลุ่มอาการ QT ยาว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต กลุ่มอาการ QT ยาวทำให้เกิดจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจต้องใช้เวลานานขึ้น

ดร. Conyers ระบุว่า เด็กๆ ที่ได้รับการรักษามะเร็งมีความโน้มเอียงที่จะเกิด QT ยาว จึงต้องตรวจคัดกรองเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 12 จุด ทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการของผู้ป่วยนอกอีกด้วย

Apple Watch - Apple heart health WeGuide inline.jpg.large - ภาพที่ 5

ECG จาก Apple Watch สามารถแชร์กันระหว่างนักวิจัยได้อย่างปลอดภัยด้วยแอปที่พัฒนาโดย WeGuide ร่วมกับทีมนักวิจัยของ Murdoch Children’s Research Institute

“ฉันอ่านรายงาน Apple Heart Study และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับโรคมะเร็งในเด็ก” ดร. Conyers กล่าว “เราเคยคิดว่าความเป็นพิษต่อหัวใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นราว 10 ปีหลังการรักษา แต่ตอนนี้เราทราบว่าการรักษามะเร็งแบบใหม่ (เช่น ยายับยั้งหรือภูมิคุ้มกันบำบัดบางชนิด) อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากการให้ยา ดังนั้นจึงมีช่องว่างขนาดใหญ่ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นพิษในขณะนี้”

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ดร. Conyers และทีมงานที่ Murdoch Children’s Research Institute จะเริ่มการวิจัยเรื่องความไวของแอป ECG ของ Apple Watch ในผู้ป่วยเด็กและเยาวชน 40 คน1 ภายใต้การศึกษาดังกล่าว ทีมงานจะหาทางให้ผู้ป่วยนำ ECG ติดตัวไปทุกที่ในทุกเวลาที่ทำได้ และหวังว่าข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นจะทำให้สามารถเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อหัวใจและค้นพบโอกาสในการยับยั้งที่เป็นไปได้

Apple Watch - Apple heart health BPM inline.jpg.large - ภาพที่ 7

 

นักวิจัยที่ Texas A&M และ Standford Medicine จะตรวจสอบข้อมูลประเภทต่างๆ จำนวนหนึ่งที่ได้รับจาก Apple Watch ของผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัย เช่น อัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด กิจกรรม และอีกมากมาย

ผู้พักอาศัยบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโกทุกคนยังจำวันที่ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้มได้ดี โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2020 ดร. So-Min Cheong รองศาสตราจารย์สาขาการให้บริการภาครัฐและการบริหารงานที่ Bush School มหาวิทยาลัย Texas A&M อยู่ที่พาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงนั้น
“ฉันยังมีรูปภาพในวันนั้นบน iPhone อยู่เลยค่ะ” ดร. Cheong กล่าว
รัฐแคลิฟอร์เนียประสบมหันตภัยไฟป่าทั้งในปี 2020 และ 2021 ดังนั้น ดร. Cheong ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบทางสังคมและสุขภาพอันเกิดจากภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จึงเล็งเห็นโอกาสในการศึกษาผลกระทบส่วนบุคคลจากควันไฟป่าที่เกิดขึ้นกับสุขภาพหัวใจของนักผจญเพลิง
“ฉันคิดว่าคำแนะนำด้านสุขภาพหรือมาตรการยับยั้งโดยทั่วไปยังไม่ดีพอ” ดร. Cheong อธิบาย “คนเรามีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นแต่ละคนจึงต่างกันในเรื่องสุขภาพ และฉันอยากศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม”
ดร. Cheong ทราบจากสายสัมพันธ์ของเธอในชุมชนการวิจัยว่า Apple Watch ช่วยเก็บบันทึกข้อมูลสุขภาพประเภทที่เธอต้องการได้ “เพื่อนของฉันคนหนึ่งที่ Stanford เคยเล่าประสบการณ์การใช้ Apple Watch และเป็นที่ทราบกันในเรื่องความแม่นยำของข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจ” เธอกล่าว “ตลอดมาฉันอยากสามารถวิเคราะห์บุคคลได้มากขึ้นด้วยเซ็นเซอร์ในแบบที่ไม่ล่วงล้ำร่างกายเพื่อที่จะได้รับข้อมูลการตรวจวัดสุขภาพที่แม่นยำขึ้น”
ในเดือนหน้าทั้ง ดร. Cheong จาก Texas A&M University และ ดร. Brian Kim และ ดร. Marco Perez จาก Stanford Medicine จะเริ่มติดตั้ง Apple Watch แก่นักผจญเพลิงเพื่อศึกษาผลกระทบจากควันไฟป่าที่มีต่อสุขภาพหัวใจ ฤดูไฟป่าเริ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในรัฐเท็กซัสและช่วงฤดูร้อนในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีนักผจญเพลิงกว่า 200 คน จากสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ที่จะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย
การศึกษาวิจัยจะใช้ Apple Watch เพื่อติดตามอัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ ออกซิเจนในเลือด ข้อมูลกิจกรรม และอีกมากมาย นักผจญเพลิงยังต้องสวมใส่อุปกรณ์ติดตามคุณภาพอากาศและตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับการนอนหลับ กิจกรรม และอาการที่เกี่ยวข้องกับควันไฟป่า
Apple Watch - Apple heart health lifestyle high heart rate big.jpg.large - ภาพที่ 9
ผู้ใช้สามารถเปิดใช้งานการแจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจเร็วและช้าจาก Apple Watch
“นักผจญเพลิงจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาวิจัย” ดร. Cheong กล่าว “เราทราบว่าควันไฟป่าส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และการศึกษาวิจัยเช่นนี้จะทำให้สามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ในแบบเรียลไทม์”
แต่เธอไม่ต้องการสรุปการศึกษาวิจัยว่าได้ผลอย่างไร ณ จุดนี้ โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายหลักของการศึกษาวิจัยอยู่ที่ข้อมูลสุขภาพรายบุคคลและความแม่นยำที่ Apple Watch มอบให้
“การศึกษาวิจัยลักษณะนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการพิสูจน์หรือหักล้างสมมติฐาน” ดร. Cheong กล่าว “แต่เป็นการวิจัยขั้นสำรวจและผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความแม่นยำของการวิเคราะห์ในลักษณะนี้เพื่อนำไปสร้างเป็นปัจจัยแทรกแซงเฉพาะตัวต่อไป และยังเชื่อว่าการศึกษาวิจัยธรรมชาติในเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น”
Apple Watch - Apple heart health atrial fibrillation inline.jpg.large - ภาพที่ 11
นักวิจัยที่ศูนย์โรคหัวใจแห่งเนเธอร์แลนด์กำลังศึกษาวิธีตรวจสอบภาวะ AFib แต่เนิ่นในงานศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมโดยใช้คุณสมบัติของ Apple Watch ซึ่งรวมถึงการแจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในยุโรประบุว่า อัตราการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) ในสหภาพยุโรปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2060 ภาวะ AFib เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยและส่งผลกระทบร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษา เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
ดร. Sebastiaan Blok ผู้อำนวยการฝ่าย eHealth ของศูนย์โรคหัวใจแห่งเนเธอร์แลนด์และทีมงานกำลังศึกษาวิธีตรวจสอบภาวะ AFib แต่เนิ่นที่ Amsterdam University Medical Center โดยนักวิจัยได้พัฒนาการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม และถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ชื่อว่า HartWacht ซึ่งเป็นแนวคิด eHealth แรกสุดที่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้
ในเนเธอร์แลนด์ “มีประชากรราว 300,000 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว” ดร. Nicole van Steijn นักวิจัยในทีมศึกษาวิจัยกล่าว “และยังมีอีกราว 100,000 คน ที่มีภาวะดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว โดยมากเป็นเพราะไม่มีอาการใดๆ”
การศึกษาวิจัยครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ความเสี่ยงต่อภาวะ AFib มากกว่า 300 คน ผู้เข้าร่วมวิจัยครึ่งหนึ่งหรือเรียกว่ากลุ่มทดลองจะสวมใส่ Apple Watch เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน
“Apple Watch เป็นอุปกรณ์สำหรับสวมใส่โดยผู้บริโภคที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางและเชื่อถือได้ เราจึงคิดว่านี่เป็นอุปกรณ์ที่ดีมากต่อการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัยของเราเพื่อให้เข้าใจว่าเราน่าจะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในระบบสาธารณสุขในวงกว้างได้อย่างไร” ดร. Blok กล่าว
ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะได้รับการตรวจ ECG จำนวน 1 ครั้งทุก 3 สัปดาห์หรือเมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ อันเป็นไปตามการออกแบบงานวิจัยของกลุ่ม หากผู้เข้าร่วมการวิจัยได้รับการแจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ นักวิจัยก็จะติดต่อกับผู้เข้าร่วมการวิจัยและแนะนำให้ตรวจ ECG และแชร์ผลลัพธ์
ภายใน 3 สัปดาห์ที่มีการศึกษาวิจัย นักวิจัยสามารถระบุผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีภาวะ AFib ในกลุ่มทดลองที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่นักวิจัยต้องการทำความเข้าใจโดยใช้ Apple Watch ในอนาคตนักวิจัยวางแผนที่จะศึกษาวิธีค้นหาโอกาสที่เป็นไปได้ในการใช้แอป ECG เพื่อติดตามผู้ป่วยจากที่บ้าน เพราะการให้ยาบางชนิดอาจทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังพิจารณาวิธีใช้ Apple Watch เพื่อติดตามผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจากที่บ้านเพราะเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเพื่อระบุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สามารถพยากรณ์การกำเริบของโรค
“เราจะเดินหน้าคิดค้นโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป” ดร. Blok กล่าว
ที่มา : Apple