เมื่อโซเชียล กระทบรายได้ทีวีดิจิตอล กสทช.มีมติตั้งทีมดูแลเนื้อหาบนโลกออนไลน์

Lazada

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือกสทช. ประชุมวาระพิเศษ เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาในโลกออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่า ทีวีดิจิตอลได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ กสทช.เคยมีแนวคิดผลักดันการกำกับดูแลกิจการบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือ Over The Top (OTT) กระทั่งในรายงานล่าสุดจากเว็บไซต์ Cyberbiz เครือผู้จัดการ ระบุว่า มติที่ประชุมกสทช.วาระพิเศษ ได้มอบหมายให้ตั้งอนุกรรมการ เพื่อตั้งกรอบการทำงานกำกับดูแลเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ต จากนั้นทางคณะอนุกรรมการจะประชุมเพื่อสรุปกรอบการทำงานต่อไป

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยอมรับว่า การมาของโลกออนไลน์ ทำให้ทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นฟรีทีวีที่มีการประมูล เมื่อปี 2556 ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงมีปัญหาบางประการที่โลกออนไลน์มีการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงต้องมีมาตรการกำกับดูแล

มองในมุมผู้บริโภค

กสทช

ผู้เขียน คิดเห็นว่า การแข่งขันระหว่างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ และทีวีดิจิตอลเป็นคนละประเด็น และไม่น่าเกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป้าหมายสูงสุดของคนทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ หรือโลกออฟไลน์ล้วนอยู่ที่คนดู

ถ้าหากคอนเทนต์ใดสามารถตอบโจทย์การรับชมของผู้ชมได้มากกว่า สุดท้ายแล้วผู้ชมก็จะหันไปหาวิธีการรับชมที่เหมาะสมและสะดวกกับตัวเอง เช่น กรณีการออกอากาศรายการ The Mask Singer ทางช่อง Workpoint ที่ไม่ยึดติดในการออกอากาศเฉพาะทีวีดิจิตอลเท่านั้น หากแต่ยังถ่ายทอดสดไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Live หรือบน YouTube Live

ส่วนในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ แน่นอนว่าบนโลกออนไลน์มีปัญหาเรื่องนี้หมักหมมเนิ่นนาน แต่ในมุมของผู้เขียนคิดเห็นว่า ประเด็นนี้ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าของคอนเทนต์ในการดำเนินการมากกว่าที่จะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับอย่างกสทช. ออกรับหน้า