โซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) คืออะไร และทำอย่างไร?

Social Detox

ในปัจจุบันคนเราส่วนใหญจะใช้เวลาไปกับสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก ซึ่งแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ จนต่อเนื่องมาถึงการทำงาน หรือการเรียนการสอนที่หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร และการหาข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้การเล่นโซเชียลมีเดียมาก ๆ ยังกระตุ้นให้เรารู้สึกตื่นตัว และยับยั้งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งทำให้นอนหลับไม่สนิท รวมไปถึงมีสมรรถภาพการทำงานที่แย่ลง และอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้นในระหว่างวัน ซึ่งทำให้หลาย ๆ คน จะต้องทำ โซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) เพื่อให้พักผ่อนฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจของตนเอง ดังนั้น ในบทความนี้เราก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) ว่าคืออะไร และต้องทำอย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!

Social Detox 02

ที่มา: livemorezone.com

โซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) คืออะไร?

โซเชียลดีท็อกซ์ เป็นการบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการตัด และลดการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง โดยหลายคนใช้บำบัดตัวเอง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความคิดเห็นหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ดี ไปจนถึงพฤติกรรมการเสพสื่อทั่วไปมากจนเกินไป

การทำโซเชียลดีท็อกซ์ โดยการกำหนดตนเองให้อยู่ห่างจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการพึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ระยะหนึ่ง เพื่อการพักผ่อนฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจของตนเอง ดังนั้น สำหรับใครที่กำลังได้รับผลกระทบจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือใช้ในการทำงาน ลองมาทำ Social Detox โดยอาจนำไปปรับใช้กับการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลดี คือ ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น สุขภาพที่ดีขึ้น และชีวิตมีความสุขมากขึ้น

สัญญาณเตือนว่าคุณต้องการ Social Detox

Social Detox 01

ที่มา: parentmap.com

  • เริ่มรู้สึกปวดนิ้ว ข้อมือ แขน คอ หรือหลัง
  • เบลอ ปวดตา หรือมึนไปชั่วขณะ
  • จดจ่ออยู่กับโซเชียลมีเดีย 24/7
  • สิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคุณ
  • คุณจดจ่อว่าจะโพสต์อะไรมากกว่าที่จะทำอะไร
  • ไม่มั่นใจในตัวเอง และเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นในโซเชียล
  • กระวนกระวายใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องออฟไลน์แบบกะทันหัน
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ นอนดึก นอนหลับยาก
  • ขาดความรับผิดชอบต่องาน และการเรียน
  • ขาดการจัดการเวลาที่ดี
  • มีปัญหาด้านภาวะทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย และโรคเครียด เป็นต้น

วิธีการทำ Social Detox

Social Detox 04

ที่มา: lofficiel.cy

ตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลง หรือปิดการแจ้งเตือน เนื่องจากเสียง และการสั่นแจ้งเตือนสามารถกระตุ้นสมองให้เกิดการตอบสนอง ทำให้ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็กว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง หากเป็นเนื้อหาที่สนใจก็อาจเล่นสมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น ดังนั้น การตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลง หรือปิดการแจ้งเตือน เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดการใช้โซเชียลมีเดียได้ หากเป็นไปได้ ควรวางสมาร์ทโฟนไว้ให้พ้นจากสายตา และห่างจากมือ เพราะบางครั้งหลายคนก็เผลอหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ

กำหนดเวลาในการเล่นหรือใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟน โดยกำหนดเวลาการใช้สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย เช่น ทุก 30 นาที หรือทุก 1 ชั่วโมง และกำหนดว่าจะเล่นครั้งละ 5 นาที หรือ 10 นาที เป็นต้น ซึ่งเราสามารถปรับเวลา และความถี่ได้ตามความต้องการ แต่ก็ควรเว้นระยะให้ห่างกันเพื่อให้การทำ Social Detox มีคุณภาพ และได้ผล สำหรับคนที่อยากลดการเล่นโซเชียลมีเดียให้มากขึ้นสามารถกำหนดความถี่ในการให้ห่างขึ้นได้ นอกจากนี้วิธีนี้ยังเป็นการฝึกวินัยไปในตัวด้วย

Social Detox ทุกวันหยุด เพื่อให้ร่างกาย และสมองได้ผ่อนคลายจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งใครที่ต้องใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะการใช้สำหรับทำงาน วันหยุดจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะลองใช้ชีวิตปราศจากโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต หรือใช้สมาร์ทโฟนให้น้อยที่สุดเพื่อให้ร่างกาย และสมองได้ผ่อนคลาย และพักผ่อนจากโซเชียลมีเดีย

ซึมซับบรรยากาศแบบออฟไลน์ โดยการปิดแจ้งเตือน ปิดโทรศัพท์ และการใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ ไม่โพสต์รูป ไม่อัปเดตสถานะในโซเชียลมีเดีย แล้วออกไปใช้ชีวิต และพักผ่อน อย่างการออกไปท่องเที่ยว พูดคุย และกินข้าวกับเพื่อน และทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รัก อาจเป็นวิธีทำ Social Detox ที่ดี ซึ่งช่วยให้คุณมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจอื่นที่อยู่นอกจอโทรศัพท์

งดเล่นสมาร์ทโฟนตอนก่อนนอน เนื่องจากแสงไฟจากหน้าจอจะกระตุ้นให้สมองทำงานมากขึ้น และกดการทำงานของสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้นอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ยาก บางคนชาร์จสมาร์ทโฟนไว้ข้างหัวนอนก็จะทำให้เล่นเพลินจนลืมเวลา ด้วยเหตุนี้ การปิดโทรศัพท์ และชาร์จโทรศัพท์ไว้ห่างจากตัวในช่วงก่อนนอนจึงเป็นการทำ Social Detox ที่มีประสิทธิภาพและอาจช่วยบรรเทาอาการนอนหลับยากได้

ข้อดีของการทำ Social Detox

Social Detox 03 scaled

ที่มา: womansday.com

มีสมาธิมากขึ้น การใช้สมาร์ทโฟนอาจดึงความสนใจของผู้ใช้จากสิ่งที่ควรจะทำในเวลานั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียได้ในสักวันหนึ่ง เช่น เสี่ยงต่ออุบัติเหตุเมื่อใช้ขณะขับรถ ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียน หรืออาจงานเสร็จไม่ทันตามกำหนด เป็นต้น การทำ Social Detox เพื่อลดการใช้งานสมาร์ทโฟนจึงอาจช่วยเพิ่มสมาธิ และช่วยให้จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำมากยิ่งขึ้น

สุขภาพดีขึ้น เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินสามารถนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งการนอนดึก การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความเครียด และปัญหาอื่นที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้น Social Detox จึงอาจช่วยตัดวงจรของพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่างลง

ชีวิตมีความสุขมากขึ้น การใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์เสมอไป แต่การใช้งานอย่างผิดวิธีอาจนำไปสู่ความทุกข์ทั้งทางกาย และทางใจ โดยอาจเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว อย่างการหมกมุ่นกับโซเชียลมีเดียหรืออาการติดมือถือ หรือเกิดจากคนอื่น อย่างความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง หน้าตา การใช้ชีวิต หรือไซเบอร์บูลลี (Cyberbully)

โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ตอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้ การทำโซเชียลดีท็อกซ์ จะสร้างสมดุลให้กับชีวิตเราใหม่ ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเครียด สร้างความสงบในจิตใจ และช่วยให้เรามีความคิดที่สร้างสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ รวมถึงได้สุขภาพกาย และใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ข้อมูล: sikarin.com , bangkoklife.com และ pobpad.com